เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
5 ธีมการลงทุน รับแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยุโรป


โอกาสการลงทุนในเดือนพฤศจิกายน สามารถทำได้ด้วยการจับจังหวะเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงช่วงที่นักลงทุนคาดหวังการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น้อยลง แต่ให้ระมัดระวังความผันผวนโดยเฉพาะหากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ส่งสัญญาณการคงอัตราดอกเบี้ยสูงและลากยาวเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ


โดยดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เห็นว่า ในช่วงที่มีการเทขายในตลาดหุ้นฝั่งเอเชียช่วงที่ผ่านมา จนทำให้มูลค่าหุ้นลดลงมาในระดับที่น่าสนใจ และปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปมากนัก จึงมองโอกาสการลงทุนในเดือนพฤศจิกายน ดังนี้
 
1. กองทุนรวมหุ้นเวียดนาม
 
ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงแรงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากความกังวลด้านการบริหารของสถาบันการเงิน ปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์ และการที่ธนาคารกลางเวียดนามขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 1% ถึงสองครั้ง เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อและป้องกันค่าเงินดองอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามยังเติบโตได้ดี การส่งออกยังเร่งตัว และปัจจัยพื้นฐานยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นอกจากความกังวลเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงต่ำกว่าระดับหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ด้วยราคาหุ้นในประเทศที่ลดลงอย่างน่าสนใจ

ประกอบกับโอกาสในการเติบโตของกำลังซื้อของคนในประเทศ จึงมองว่าน่าจะเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นเวียดนามในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มค้าปลีกที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นและกำลังซื้อในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง
 
2. กองทุนรวมหุ้นไทย
 
นักลงทุนน่าจะทยอยกลับเข้าลงทุนหุ้นไทย หลังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนออกมาไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวและน่าจะมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง

ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปและสภาพคล่องในประเทศยังมีอยู่มาก ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มสถาบันการเงิน ขณะที่กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ น่าจะทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าได้มากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวตามต้นทุนที่ขึ้นนำไปก่อนหน้านี้แล้ว และน่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการในช่วงต่อไป นอกจากนี้ ต่างชาติยังเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย ซึ่งน่าจะช่วยพยุงดัชนีหุ้นไทยให้ไม่ผันผวนเหมือนตลาดอื่น ๆ
 
3.กองทุนรวมหุ้นญี่ปุ่น
 
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และในเดือนพฤศจิกายนนี้น่าจะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นตามการกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่ปัจจัยในประเทศญี่ปุ่นยังน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ในปีหน้า และไม่น่าเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง โดยเฉพาะทางธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ที่ออกมาย้ำการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยังเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ

รวมทั้งมีความคาดหวังว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น แม้จะยังขาดนักท่องเที่ยวหลักชาวจีนก็ตาม นอกจากนี้ ทางการคลังอาจมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพเพื่อช่วยชาวญี่ปุ่นออกมาเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเยนที่อ่อนค่าและทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นสูงขึ้นได้
 
4. กองทุนรวมหุ้นกลุ่มพลังงาน
 
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ลากยาวนับจากต้นปี 2565 ได้กดดันให้ราคาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากนักลงทุนกังวลว่าสหภาพยุโรปอาจเกิดวิกฤติพลังงาน หรือมีปัญหาด้านอุปทานจนราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอีก

ในช่วงปลายปีนี้ นักลงทุนอาจหาจังหวะเข้าสะสมหุ้นในกลุ่มพลังงานเพิ่มเติม ซึ่งมีทั้งกลุ่มสำรวจและผลิตน้ำมัน ระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ และผลิตไฟฟ้า แม้ราคาพลังงานได้ปรับตัวสูงขึ้นมามากแล้ว แต่นักลงทุนอาจถือกองทุนรวมนี้ไว้บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดปัญหาพลังงานเพิ่มเติมในยุโรป
 
5. กองทุนรวมหุ้นเทคโนโลยี
 
การที่ราคาหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับลดลงมามาก หลังมีความกังวลในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ประกอบกับผลประกอบการของหุ้นเทคโนโลยีไตรมาส 3 ที่ออกมาแย่ หรือแย่กว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้มีแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

ดร.อมรเทพ มองว่ามีโอกาสที่จะมีแรงซื้อหุ้นในกลุ่มนี้ในเดือนพฤศจิกายน จากความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะเริ่มส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลงหรือใกล้สิ้นสุดรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในต้นปีหน้า

อีกทั้ง มูลค่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ลดลงมามากแล้ว ได้เพิ่มความน่าสนใจในหุ้นกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ แม้หุ้นกลุ่มนี้จะมีความผันผวนสูงกว่าหุ้นกลุ่มอื่น ๆ และอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แต่มองว่านักลงทุนน่าจะหาโอกาสจับจังหวะการลงทุนในรอบสั้น ๆ จากความคาดหวังในการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในต้นปีหน้า ซึ่งมองว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด
 
มุมมองการลงทุน

เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป หลังธนาคารกลางเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูง แต่เงินเฟ้อยังไม่มีท่าทีชะลอตัวลง ราคาสินค้าและบริการยังคงมีแนวโน้มขยับต่อและคนยังคาดการณ์ว่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงในปีนี้ก็ยังไม่อาจช่วยให้เงินเฟ้อเปลี่ยนทิศทางเป็นขาลงได้

ยิ่งราคาน้ำมันมีโอกาสปรับขึ้นอีกรอบ หลังโอเปกพลัส (OPEC+) ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนมีนักเศรษฐศาสตร์มองว่า “จำเป็นต้องลดอุปสงค์ในประเทศ หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องเพื่อลดการบริโภคและการลงทุน แม้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม เพราะเมื่อเศรษฐกิจถดถอย คนว่างงานเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนจะชะลอลง ราคาสินค้าก็จะชะลอตามหรือปรับลดลงได้”
 
แต่จะแน่ใจได้อย่างไร เพราะต่อให้เศรษฐกิจของประเทศสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา เผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนคนใช้จ่ายและลงทุนลดลง คนอเมริกันจะว่างงานเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน ราคาสินค้าและบริการจะลดลงได้จริงหรือ? หรือเงินเฟ้อในอนาคตจะยังเกินกรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% ไปอีกนานเป็น New Normal และต้องกลับมาแก้ปัญหาเงินเฟ้อในปีหน้าด้วยการปล่อยให้เงินเฟ้อสูงในปีนี้ เพื่อหวังให้ฐานที่สูงปีนี้ดึงให้อัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบปีต่อปีลดลง ซึ่งนี่ไม่ใช่การแก้ปัญหา

ด้วยเหตุนี้ ดร.อมรเทพ มองว่าธนาคารกลางจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปในปีหน้า ยังไม่น่าจะเห็นการปรับมุมมองชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ววันนี้อย่างที่นักลงทุนคาดหวังกัน เพราะเงินเฟ้อปีหน้ายังสูงกว่ากรอบนโยบายการเงินที่ 2% แม้จะต้องโดนวิจารณ์จากฝั่งการเมืองที่ได้แรงกดดันจากคนที่ว่างงานและการบริโภคและการลงทุนที่หดตัวก็ตาม แต่ธนาคารกลางทั้งหลายยังไม่น่าจะยอมถอยจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงและลากยาว จนกว่าเงินเฟ้อจะลงจริง ๆ เสียที ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นเงินเฟ้อลงในปี 2567 หลังฐานที่ยังสูงในปี 2566 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบได้ในปีถัดไป

มุมมองทิศทางดอกเบี้ยและเงินเฟ้อฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังสูงลากยาวไปถึงปีหน้าเช่นนี้ น่าจะมีผลให้การบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์หดตัวในปีหน้า และน่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยุโรป โดยคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรือ EU จะขยายตัว 1.7% และ 3.1% ในปีนี้ ตามลำดับ

ก่อนกลับมาหดตัวที่ 0.5% และ -0.04% ในปีหน้า ตามลำดับ แต่ไม่ได้รุนแรงจนนำไปสู่การถดถอยของเศรษฐกิจโลก เพียงแต่โตช้าลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 2.9% ใน 2565 และ 1.5% ในปี 2566
 
ส่วนประเทศไทยนั้น กลับมีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.2% ในปี 2565 และ 3.4% ในปี 2566 ด้วยแรงส่งจากรายได้ของภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจประเทศอื่นจะชะลอตัวลงก็ตาม นอกจากนี้ ในปี 2566 เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นน่าจะยังขยายตัวได้ และน่าจะประคองเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ไม่ให้ชะลอตัวลงแรง อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อย อาจมีผลต่อมุมมองการลงทุนของนักลงทุนในเดือนพฤศจิกายนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้มีข่าวร้ายที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงหรือดอกเบี้ยสูงและลากยาว

แต่ก็น่าจะมีการเก็งกำไรระยะสั้นและอาจทำให้นักลงทุนจับจังหวะการเข้าลงทุนช่วงที่ตลาดหุ้นกลับมาขึ้นได้ตามความคาดหวังว่า ธนาคารกลางต่าง ๆ จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยน้อยลง หรือ พูดง่าย ๆ คือ พยายามสู้กับเฟด แต่อย่างที่ผมเคยเตือนมาเสมอว่า “อย่าสู้กับเฟด” เพราะคุณจะไม่ชนะ และน่าจะระมัดระวังการลงทุนในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปที่อาจจับจังหวะลงทุนได้ในระยะสั้น และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย
 
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ย. 2565 เวลา : 14:28:19
01-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 1, 2024, 4:43 am