ซีเอสอาร์-เอชอาร์
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สานต่อ "โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม" เติมเต็ม 'เด็กกำพร้า' ด้วย 'ครอบครัว' พร้อมปลูกฝังให้เติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคม


 
“โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากการที่ ท่านประธานอาวุโส คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับการถ่ายทอดจาก ดร.โทมัส หยี นักวิชาการด้านการเกษตรจากประเทศไต้หวัน ที่กล่าวไว้ว่า สถิติอาชญากรรมในประเทศไต้หวัน ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ มีประวัติเป็นเด็กกำพร้าจากสถานสงเคราะห์ เพราะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ขาดความรัก ความอบอุ่น ขาดความผูกพัน เป็นเหมือนระเบิดเวลาของสังคม ควรหาครอบครัวช่วยดูแลทดแทนพ่อแม่ที่เด็กขาดไป การทำให้เด็กๆ เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ในชุมชนที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม มีสถาบันครอบครัวและชุมชนเป็นแกนหลัก พัฒนา หล่อหลอม อบรมบ่มนิสัยให้เด็กๆ เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง” นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เล่าถึงที่มาของโครงการฯ 
 
 
 
 
 
ด้วยความเชื่อมั่นว่าเยาวชนที่ได้เรียนรู้ถึงความรัก ความผูกพัน ความเอื้ออาทร การเกื้อกูล และมีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจให้มุ่งมั่นสร้างความดี เพื่อครอบครัวและชุมชน รวมทั้งสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณค่า และสำหรับเด็กกำพร้า แม้จะได้รับการเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตตามวัยในสถานสงเคราะห์  แต่ยังขาด “ครอบครัว”  ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำหน้าที่ดูแลให้พวกเขามีพัฒนาการ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสังคมไปพร้อมๆ กัน และถือเป็นสถาบันแรกที่สอนให้เรียนรู้กฎเกณฑ์ทางสังคม  การให้เด็กกำพร้าได้เติบโตในครอบครัวทดแทน ที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนอันดีงาม  “ครอบครัวอุปการะ” จึงทำหน้าที่เป็นครอบครัวทดแทนให้กับพวกเขา ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบของสังคมที่มีต่อเด็กด้วย
 
 
 
“โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม” เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2545 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา กล่อมเกลา ให้เด็กกลุ่มนี้เป็นคนดี พลเมืองดีที่มีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมสร้างสรรค์อนาคตที่ดี  และร่วมแก้ไขปัญหาระยะยาวของประเทศชาติอย่างมีเป้าหมายต่อไป โดยมุ่งหวังให้เด็กกำพร้าได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักความอบอุ่นจากครอบครัวทดแทน ในสภาพแวดล้อมของชุมชนวัฒนธรรมอีสาน ให้พวกเขามีพัฒนาการสมวัย มีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ และให้เด็กๆได้รับการศึกษาสูงสุดตามศักยภาพ และเป็นคนดีของสังคม

ที่ผ่านมา เครือซีพี และมูลนิธิฯ ได้ผนึกกำลังกับหน่วยงานร่วมเจตนารมณ์ ทั้งกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สหทัยมูลนิธิ องค์กร Care for Children (Thailand) องค์กร Step Ahead Bangkok และหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ทั้งจังหวัด อำเภอ ตำบล สถานศึกษา สถานพยาบาล และวัด ในการเดินหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตอบสนองความต้องการของเด็กอุปการะ ให้ได้มากที่สุด 
 
 
 
 
 
“การดำเนินโครงการที่ผ่านมามูลนิธิฯ ไม่สามารถทำเพียงลำพังได้ ต้องอาศัยการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เนื่องจากกระบวนการบางขั้นตอนต้องทำด้วยความระมัดระวัง และอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ระเบียบ และหลักการดำเนินงานทางสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวอุปการะ ภายใต้กระบวนการดำเนินโครงการฯ 12 ขั้นตอน  โดยเริ่มจากพื้นที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นในปี 2563 ได้ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน ขยายโครงการไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำร่อง 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย” นายจอมกิตติ กล่าว

 
สำหรับการดำเนินโครงการฯ นั้นเริ่มจากการรับเด็กอายุ 5-6 ปี จากสถานสงเคราะห์ ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และสหทัยมูลนิธิในฐานะสถานสงเคราะห์เอกชน เพื่อให้ไปอยู่กับครอบครัวอุปการะที่มูลนิธิฯ พิจารณาคัดเลือกตามความเหมาะสมให้กับเด็กแต่ละราย เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในสภาพแวดล้อมชุมชน  ที่เอื้อต่อการมีวิถีชีวิตที่ดีงาม พร้อมให้ได้รับการศึกษาสูงสุดตามศักยภาพจนถึงอุดมศึกษา หรือการศึกษาสายอาชีพตามความสามารถและความถนัด เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ 

ผลลัพธ์ของโครงการฯ ที่มุ่งดูแลให้เด็กๆ ได้มีครอบครัวเติมเต็มความรักและความอบอุ่น ทำให้เกิดการร่วมสร้างสรรค์สังคม  และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีให้สังคม เกิดกระบวนการกล่อมเกลาในชุมชน จากการเติมเต็มในส่วนที่ขาดคือ “ครอบครัว ความรัก และความอบอุ่น” ทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระภาครัฐในการดูแลเด็กกำพร้า และก่อให้เกิดรูปแบบนวัตกรรมด้านสังคม คือครอบครัวอุปการะหรือครอบครัวทดแทน โดยมีชุมชนวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานร่วมอุปถัมภ์ เป็นการสร้างความมั่นคงในจิตใจแก่เด็กที่ขาดองค์ประกอบของชีวิตที่เรียกว่า Social Foundation-Community Psychological Perspective คือการนำมิติครอบครัว ชุมชน เพื่อนบ้าน ไปประกอบกับกระบวนการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสอดคล้องกัน

 
จากการดำเนินงานกว่า 19 ปี  มีเด็กอุปการะร่วมโครงการครอบครัวอุปการะฯ รวม 346 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ออกจากโครงการฯ ไปแล้ว 272 คน โดยไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมต่างประเทศและไทย 50 คน กลับคืนสู่ครอบครัวเดิม 212 คน และกลับคืนสถานสงเคราะห์ 13 คน มีเด็กที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 4 คน ส่วนอีกกลุ่มเป็นเยาวชนที่กำลังอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ รวม 67 คน 

พ่อบุญเพ็ง นาคสูงเนิน อายุ 62 ปี หนึ่งในครอบครัวอุปการะ ชาวตำบลเมืองแฝก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2546 กล่าวว่า ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ไร่มันสำปะหลัง เลี้ยงวัว เลี้ยงปลา และเกษตรผสมผสาน  มีชาย 1 คน หญิง 1 คน ที่ผ่านมาครอบครัวเคยอุปการะเด็กมาแล้ว 3 คน เรียนจบปริญญาตรี 1 คน และกลับครอบครัวเดิม 2 คน โดยปัจจุบันยังดูแลเด็กอุปการะเด็กหญิงอยู่ 2 คน ส่วนจุดเริ่มเกิดจากตนเองร่วมโครงการเกษตรผสมผสานอาขีพ 7 อาชีพ 7 รายได้ ของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และโครงการธนาคารโคกระบือ ของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ อยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ แจ้งว่าต้องการครอบครัวเกษตรกรที่มีจิตอาสา สามารถเป็นครอบครัวอุปการะเลี้ยงดูเด็กกำพร้า เพื่อช่วยบ่มเพาะเด็กๆ ได้เรียนรู้และมีทักษะด้านการเกษตร ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งครอบครัวมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของโครงการ ประกอบกับอยากช่วยเหลือเด็กๆ ให้มีบ้านและครอบครัวดูแล จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ

 
สำหรับการเลี้ยงเด็กอุปการะ พ่อบุญเพ็งบอกว่า ไม่แตกต่างกับการเลี้ยงดูบุตรของตนเอง คือครอบครัวต้องดูแล ให้ความรัก ความอบอุ่นกับเด็กอย่างเพียงพอ ซึ่งตนเองมีแนวคิดในการเลี้ยงดูเด็กๆ คือ การพาพวกเขาลงมือทำเกษตร เพราะนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างทักษะให้กับเด็กๆ แล้ว ยังถือเป็นกิจกรรมที่ได้มีเวลาอยู่ร่วมกัน โดยจะใช้เวลาที่ทำกิจกรรมเกษตร เช่นเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ในการสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้เรื่องอื่นๆไปพร้อมกันด้วย ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว บ่มเพาะเด็กให้มีความรับผิดชอบและเป็นคนใจเย็น พ่อบุญเพ็งรู้สึกดีใจที่ครอบครัวนาคสูงเนินได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างอนาคตให้กับเด็กๆ และภูมิใจที่ลูกอุปการะเรียนจบปริญญาตรี มีอาชีพการงานทำที่ดี และขอบคุณมูลนิธิฯ ที่เข้ามาช่วยดูแลเด็กๆ คอยให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา สนับสนุนและช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับเด็กด้วย

ทางด้าน แม่บุตรศรี ศรีสุธีวรรณ อายุ 59 ปี อีกหนึ่งครอบครัวอุปการะ ชาวตำบลบุโพธิ์ อ.ปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ที่เข้าร่วมโครงการฯ มาแต่ปี 2549 เล่าว่าครอบครัวมีอาชีพทำนา ทำไร่อ้อย และเลี้ยงวัว ตนเองมีลูกสาว 2 คน ที่ผ่านมาได้อุปการะเด็กชายมาแล้ว 1 คน ซึ่งได้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวต่างชาติแล้ว โดยปัจจุบันยังอุปการะเด็กชายอีก 2 คน ที่ตัดสินใจร่วมเป็นครอบครัวอุปการะเพราะอยากมีลูกชาย ซึ่งการเป็นพ่อแม่อุปการะมีความยากในช่วงแรกที่รับเด็กมาเลี้ยง  เนื่องจากต้องปรับตัว เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยการเลี้ยงดูไม่ได้แตกต่างจากการเลี้ยงลูกแท้ๆ จะเน้นเรื่องการมีเวลาให้กับเด็กอย่างเพียงพอ ให้ความรักและความอบอุ่นอย่างเต็มที่ เอาใจใส่ดูแล ไม่ปล่อยปะละเลย เพราะเชื่อว่าเด็กจะรับรู้ถึงความรักและความห่วงใยที่ครอบครัวมีให้ ซึ่งจะส่งผลให้เค้าเติบโตเป็นคนดีต่อไป ขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ทำให้ครอบครัวได้มีลูกชายตามที่ต้องการ แม้จะไม่ได้รับเป็นบุตรบุญธรรม แต่ก็จะขอเลี้ยงดูพวกเขาให้ดีที่สุด ให้เติบโตเป็นคนดีมีอนาคตต่อไป

 
 
โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม ถือเป็นตัวอย่างของความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ “ครอบครัว” ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งนอกเหนือจากครอบครัวเป็นฐานสำคัญในการสร้างความรัก ความอบอุ่นแล้วแล้ว ยังมีชุมชนเป็นเบ้าหล่อหลอม สร้างความผูกพัน เหมือนบ้านเกิดที่เขาจะรักและคิดถึง อยากกลับมาร่วมพัฒนาบ้านเกิด และมิติเชิงจิตวิทยาสังคมวัฒนธรรม การคิดถึง การเกื้อกูล การทำความดี ตอบแทนบุณคุณ การรู้กตัญญู ต่อผู้มีพระคุณ เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจอย่างมั่นคง เกิดการร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดี พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีสู่สังคม./

 


LastUpdate 10/11/2565 15:00:09 โดย : Admin
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 10:47 am