สุขภาพ
รพ.วิมุต แนะวิธีดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม รับเทรนด์สังคมผู้สูงอายุโลก ห่างไกลปัญหาสุขภาพกายใจ


ตัวเลขประชากรทั่วโลกชี้ให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า หลายประเทศรวมถึงไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระยะแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งานดูแลผู้สูงอายุจึงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ทว่า การอธิบายถึงการดูแลผู้สูงอายุนั้นมีเนื้อหาที่กว้างมาก ดังนั้น เราจะมาพูดคุยกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อทำความเข้าใจถึงการเตรียมตัวดูแลผู้สูงอายุในบ้านของเราอย่างเหมาะสม


“จริง ๆ แล้วผู้สูงอายุจะเกิดความเสื่อมของร่างกายได้ทุกระบบ โรคต่าง ๆ จึงอาจเกิดขึ้นได้ตามระบบที่เสื่อม” ผศ.พญ. แสงศุลี ธรรมไกรสร แพทย์ผู้เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่าผู้สูงอายุเกิดความเสื่อมได้ในทุกระบบ “ตั้งแต่ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ ลิ้นหัวใจรั่วหรือหัวใจโต ระบบสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน โรคกลุ่มกระดูกและข้อที่พบได้บ่อย เช่น กระดูกพรุน ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อนิ้วมือเสื่อม มีภาวะกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท และอีกกลุ่มที่พบได้ คือ โรคในกลุ่มมะเร็งต่างๆ ซึ่งโรคมะเร็งที่ต้องเฝ้าระวังแยกเป็นกลุ่มมะเร็งในผู้หญิง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ส่วนในผู้ชายต้องระวังเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ส่วนแต่ละบุคคลเองก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งที่แตกต่างกันตามพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มสุราทำให้เกิดมะเร็งตับ การสูบบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด”

 
 
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ควรระวังในผู้สูงอายุที่เกิดจากการที่อวัยวะของร่างกายเสื่อมพร้อมกัน เช่น 1) หกล้ม 2) เวียนศีรษะ 3) นอนไม่หลับ 4) เบื่ออาหาร 5) น้ำหนักลด 6) ปัสสาวะเล็ด7) ซึมเศร้า 8) ผลข้างเคียงจากการทานยาหลายชนิด และอื่น ๆ “เห็นได้ชัดว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงแทบทุกโรค ดังนั้น จึงควรต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีสุขภาพที่ดี” ผศ.พญ. แสงศุลี ธรรมไกรสร กล่าว

ผู้สูงอายุในบ้านเราเป็นกลุ่มไหน?

ในปัจจุบันเราอาจแบ่งผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

· กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดสังคม โดยเป็นผู้ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี สามารถออกไปทำงาน ใช้ชีวิตโดยอิสระ มีสังคมเพื่อนฝูง การดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้จึงแทบไม่แตกต่างจากการดูแลสุขภาพทั่วไป

· กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ซึ่งการติดบ้านอาจไม่ได้แปลว่าเขาไม่อยากออกไปไหน แต่ด้วยสภาพร่างกายหรือปัจจัยอื่น ๆ ทำให้การใช้ชีวิตโดยอิสระเหมือนคนกลุ่มแรกเป็นไปได้ยากกว่า

· กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเตียง คือผู้ที่มีความลำบากในการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน เช่น การเข้าห้องน้ำ อาบน้ำแต่งตัว รับประทานอาหาร ซึ่งต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

 
พญ.มนฑรัตม์ เจนทวีพรกุล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลวิมุต อธิบายถึงการดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มต่าง ๆ ว่า “ผู้สูงอายุที่ติดบ้านจะเข้าสังคมน้อยลง การได้ทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมองย่อมลดลงด้วย

ดังนั้น เราควรประเมินว่าในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุอยู่ติดบ้านเพราะว่ามีปัญหาในระบบใดของร่างกาย เช่นมีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงหรือไม่ ควรประเมินท่านในเรื่องของการเดิน การเคลื่อนไหว ประเมินเรื่องการกินยาหลายชนิดและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างอาการเวียนศีรษะจนไม่อยากออกไปไหน การประเมินสภาวะทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุเบื่อหน่ายกับการทำกิจกรรมต่างๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้านนี้นอกจากจะประเมินผู้ป่วยแล้วยังควรประเมินผู้ที่ดูแลท่านด้วย เพื่อดูว่ามีความพร้อมและดูแลท่านได้เหมาะสมหรือไม่”

“ส่วนกลุ่มคนไข้ติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยิ่งต้องประเมินว่านอนติดเตียงเพราะอะไร สามารถรักษาให้หายหรือดีขึ้นจนไม่นอนติดเตียงได้หรือไม่ แต่หากเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเดินได้เหมือนเดิม ก็ต้องเน้นการดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การบริหารกล้ามเนื้อไม่ให้ลีบฝ่อ บริหารข้อไม่ให้ยึดติด การป้องกันแผลกดทับ รวมไปถึงการทำความสะอาดตามร่างกายไม่ให้อับชื้น ป้องกันการเกิดเชื้อราที่ผิวหนัง อีกทั้งควรหากิจกรรมช่วยกระตุ้นสมองไม่ให้สมองเสื่อมและถดถอยอีกด้วย”

 
การปรับที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ติดบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มซึ่งถือเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น ลูกหลานจึงต้องดูแลตั้งแต่ทางเดินเข้าบ้าน ไม่ควรใช้วัสดุที่ลื่น มีราวจับตลอดทางเดิน ห้องน้ำควรแยกส่วนเปียกและส่วนแห้งออกจากกัน โถชักโครกไม่ควรอยู่ในระดับที่ต่ำมากเกินไปทำให้ลุกลำบาก ควรมีราวจับเพื่อช่วยในการพยุงตัว ตลอดจนควรมีที่นั่งทั้งเวลาอาบน้ำและที่นั่งขณะแต่งตัว ไฟในห้องน้ำหรือระหว่างทางเดินก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน

อุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน ผู้ช่วยไฮเทคในการดูแลผู้สูงอายุ

ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการแจ้งเหตุฉุกเฉินเพื่อเพิ่มความอุ่นใจสำหรับผู้สูงอายุในบ้านหรือในขณะอยู่นอกบ้านตามลำพัง อาทิ โรงพยาบาลวิมุตได้นำเสนอบริการ ViMUT Life Link บริการที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที มีทั้งแบบปุ่มกดฉุกเฉินภายในบ้านและปุ่มกดฉุกเฉินแบบพกพา ซึ่งอุปกรณ์จะส่งสัญญาณแจ้งเหตุไปยังทีมแพทย์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยเครื่องจะติดต่อเจ้าหน้าที่พร้อมส่งตำแหน่ง GPS ของผู้ป่วยแบบอัตโนมัติ เพื่อประสานให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 
 
แนวทางการดูแลผู้สูงอายุของโรงพยาบาลในปัจจุบัน

สำหรับโรงพยาบาลวิมุต เราได้ให้ความสำคัญเรื่องการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุในทุกสภาวะ ตั้งแต่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ไปจนถึงผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ผู้ ที่นอนติดเตียง รวมถึงผู้สูงอายุที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยในระยะสุดท้ายและมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคที่เป็นอยู่ รพ.วิมุต พร้อมที่จะเสนอแนวทางการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร มีศูนย์ประเมินสุขภาพสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุ มีบริการการปรับบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ มีบริการอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน (ViMUT Life Link) ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้านหรือนอนติดเตียง ทางโรงพยาบาลมีบริการพยาบาลเยี่ยมดูแลถึงที่บ้าน แต่หากครอบครัวใดต้องการที่พักอาศัยในบรรยากาศเป็นกันเองคล้ายบ้าน พร้อมกับได้รับการดูแลที่ครบครันจากบุคลากรทางการแพทย์ ทางโรงพยาบาลวิมุตมีสถานที่สำหรับดูแลเพื่อทำกายภาพ ฝึกเดิน ฝึกการช่วยเหลือตนเอง มีกิจกรรมกระตุ้นสมอง กิจกรรมกระตุ้นการเข้าสังคม และท้ายที่สุดทางโรงพยาบาลมีบริการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงบั้นปลายของชีวิต

โดยสรุปแล้ว โรงพยาบาลวิมุตมอบความใส่ใจผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ เพื่อตอบรับเทรนด์สังคมผู้สูงอายุในสังคมไทยที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เพียงครอบคลุมเฉพาะสุขภาพทางกายหรือโรคประจำตัวเท่านั้น แต่ยังพิจารณาแบบองค์รวมทั้งหมด คำนึงถึงปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ว่าทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุเพื่อให้ทุกท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในทุกมิติของการใช้ชีวิต

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการทางการแพทย์เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ ได้ที่ ศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุ ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต หรือ โทร. 02-079-0044

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 พ.ย. 2565 เวลา : 16:29:54
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 3:13 am