กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลัง สมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย เปิดคอร์สอบรมผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทยให้เป็นมืออาชีพ โครงการ Smart Senior Care Business ปูพื้นฐานองค์ความรู้ที่จำเป็น เสริมศักยภาพด้านบริหารจัดการ กรุยทางสู่ความสำเร็จ มั่นใจ!! หัวใจรักบริการของคนไทยสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพร้อมยืนหนึ่งผู้นำด้านธุรกิจดูแลผู้สูงอายุระดับโลก คาดปี 2565 รายได้รวมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทยแตะ 1.5 พันล้านบาท แนะ!! ธุรกิจยังมีที่ว่างพร้อมเปิดรับนักลงทุนหน้าใหม่เข้าสู่ธุรกิจฯ เสมอ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “แนวโน้มทิศทาง การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ ช่วยผลักดันให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ เนอร์สซิ่งโฮม ของไทยเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยดูได้จากจำนวนการลงทุนในธุรกิจ พบว่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยปี 2560 จัดตั้ง 80 ราย ทุนจดทะเบียน 100.95 ล้านบาท ปี 2561 จัดตั้ง 80 ราย ทุน 107.55 ล้านบาท ปี 2562 จัดตั้ง 115 ราย ทุน 412.11 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 118 ราย ทุน 259.74 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 116 ราย ทุน 465.40 ล้านบาท และ ปี 2565 (มกราคม - ตุลาคม) จัดตั้ง 88 ราย ทุน 317.51 ล้านบาท
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565) ประเทศไทยมีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุคงอยู่จำนวนทั้งสิ้น 654 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 3,955.80 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด หรือ รายได้เฉลี่ยรวม 5 ปี (ปี 2560 - 2564) อยู่ที่ 854.23 ล้านบาท (ปี 2560 รายได้รวม 499.33 ล้านบาท ปี 2561 : 829.44 ล้านบาท ปี 2562 : 1,066.91 ล้านบาท ปี 2563 : 613.03 ล้านบาท และ ปี 2564 : 1,262.48 ล้านบาท) คาดว่า ปี 2565 รายได้รวมของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยจะแตะ 1,500 ล้านบาท
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ระยะ 5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน ในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก และยังคงเป็น ที่ต้องการของตลาด ผนวกกับตลาดผู้สูงอายุถือเป็นตลาดที่มีความท้าทาย เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีความพร้อมในการจ่ายค่าบริการหากได้รับการบริการที่ดี/ถูกใจ และพร้อมที่จะบอกต่อถึงการบริการที่ดีนั้นกับบุคคลใกล้ชิดหรือรู้จัก ซึ่งเป็นการขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ทางอ้อมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจอุปนิสัย ความต้องการที่หลากหลาย และการปรับเปลี่ยนที่พร้อมเกิดขึ้นตลอดเวลาของผู้ใช้บริการ โดยต้องศึกษา/เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจให้สอดรับแต่ละช่วงวัย
ของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างด้านความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และค่านิยม ที่จะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำความสำเร็จมาสู่ธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ร่วมมือกับ สมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย อบรมผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทยให้เป็นมืออาชีพ ภายใต้โครงการ Smart Senior Care Business เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้สามารถปรับตัวและรับมือกับข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ การพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
การอบรมฯ จะเน้นเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี กฎหมาย การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจและสื่อสารการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจได้
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและที่เกี่ยวข้องผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมฯ กว่า 100 ราย นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีเพื่อนร่วมสายอาชีพมาเป็นพันธมิตร ร่วมกันสร้างเครือข่ายธุรกิจ ยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพ สร้างพลังให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผลักดันให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น กรมฯ มั่นใจว่าประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำด้านธุรกิจดูแลผู้สูงอายุระดับโลกได้ เพราะคนไทยมีหัวใจรักบริการและมีระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล อย่างไรก็ดี ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยยังคงมีพื้นที่ในตลาดอีกมาก และพร้อมเปิดรับนักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่เข้ามาร่วมแบ่งปันส่วนแบ่งทางการตลาด รวมถึง ร่วมกันส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของโลก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0 2547 5954 e-Mail: training@dbd.go.th สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th
ข่าวเด่น