เชื่อมั่น! นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับ นายเฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในโอกาสให้เกียรติกล่าวปาฐกถาในที่ประชุม APEC Business Advisory Council 2022 (ABAC 2022) โดยกล่าวว่า ภายหลังนายมาร์กอส ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้เริ่มทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและสถานะของประเทศฟิลิปปินส์ในระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากประชาคมโลก เห็นได้จากเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เริ่มไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่สามของปีนี้ 8 ขยายตัวในอัตรา 7.6% ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน อีกทั้งยังได้รับการคาดการณ์ว่าจะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีกในปี 2566 จากการขยายตัวของภาคการส่งออก การบริโภคในประเทศ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่เอื้ออำนวย
“ธนาคารกรุงเทพดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์มาอย่างต่อเนื่องเกือบสามทศวรรษ และยังคงเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศฟิลิปปินส์ โดยธนาคารกรุงเทพ สาขามะนิลา เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2538 และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ทั้งบริษัทในประเทศ บริษัทไทยที่ขยายตลาดไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และบริษัทจากประเทศอื่นๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่ธนาคารมีเครือข่ายสาขา”
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ เป็นประตูแห่งโอกาสด้านการค้าการลงทุน ด้วยเครือข่ายบริการที่ครอบคลุม เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในระดับภูมิภาค ด้วยจำนวนสาขาในต่างประเทศที่มากกว่า 300 สาขา ครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ธนาคารมีสาขาครอบคลุมถึง 9 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ที่พร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าและนักธุรกิจในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ และพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนในไทยของนักลงทุนจากต่างประเทศด้วย
สำหรับการประชุม ABAC 2022 โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 เป็นเจ้าภาพ เป็นเวทีคู่ขนานการจัดการประชุมเอเปค ปี 2565 จัดขึ้นภายใต้แนวทาง "Embrace Engage Enable" เพื่อผลักดันความก้าวหน้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั่วทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration), การเสริมสร้างศักยภาพด้านดิจิทัล (Digital), การส่งเสริมความพร้อมของธุรกิจในทุกขนาด (MSMEs and Inclusiveness), ความก้าวหน้าเชิงวิถีปฏิบัติด้านความยั่งยืน (Sustainability) และระบบการเงินที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นและสภาพแวดล้อมตอบโจทย์ (Finance & Economics) โดยผลการหารือจะนำไปสู่การพัฒนาบทสรุปข้อเสนอแนะเพื่อยื่นต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงปลายปี 2022 ต่อไป
ข่าวเด่น