นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และนายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GPSC) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การศึกษาและพัฒนาพื้นที่เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด” เพื่อศึกษาและพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพมาพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ ลม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดในภาคเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และยกระดับภาคการเกษตรของไทยก้าวสู่การเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming โดย ธ.ก.ส. มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรในการพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมที่จะเชื่อมโยงในการนำความรู้ต่าง ๆ ของ GPSC ไปยังเกษตรกรเพื่อปรับใช้ในกระบวนการผลิต การแปรรูปเพิ่มมูลค่า ทั้งในส่วนของการผลิตที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด ในการทำเกษตรอินทรีย์และผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนร่วมปลูกป่าในพื้นที่ของตนเองและชุมชนผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) และกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ในชุมชน ปัจจุบันมีธนาคารต้นไม้เข้าร่วมโครงการ 6,838 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนในโครงการ 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 123,845 ราย และมีชุมชนที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกจำนวน 62 ชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ของประเทศในการลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ความยั่งยืน
สำหรับแนวทางการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และ GPSC จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยคัดเลือกพื้นที่เกษตรกรรมที่มีศักยภาพในทุกพื้นที่ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในส่วนของ GPSC จะนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เหมาะสม เข้าไปสนับสนุนภาคการเกษตร ทั้งการติดตั้งระบบพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้านการบริหารจัดการพลังงาน เข้าไปควบคุมการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบการใช้งานของภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยเป็นเกษตรยุคใหม่ที่มีความยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่แสวงหาแนวทางการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วนมากขึ้น
ข่าวเด่น