เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการ EIC คาดเศรษฐกิจไทยปี 2023 อาจไม่สดใสมากจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความไม่แน่นอนรอบด้าน


เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสสาม

 
เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกันที่ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐาน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2021 ยังเผชิญมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 เข้มงวด และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามขยายตัวถึง 1.2% หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ_sa) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน กอปรกับภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวดีตามการเปิดเมืองและเปิดประเทศ ส่งผลให้ในภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2022 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.1% 
 
หากพิจารณากิจกรรมเศรษฐกิจด้านภาคการผลิต (Production approach) พบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวจากเดิมที่หดตัวในไตรมาสก่อน ภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกับการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาคการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐ ประกอบกับการหดตัวของภาคเกษตรตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

 
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022
 
EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยราว 10.3 ล้านคนในปี 2022 จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง High season นักท่องเที่ยวจากประเทศเมืองหนาวจะเดินทางมาไทย อีกทั้ง จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเองก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการในภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 
 
การฟื้นตัวของภาคบริการท่องเที่ยวมีส่วนสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนเติบโตดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น สำหรับการส่งออกสินค้าในช่วงท้ายปีอาจได้รับอานิสงส์จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และวัตถุดิบที่เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี 
 
การส่งออกของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในช่วงท้ายปี ด้านความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีน้อยลงจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเต็มจำนวนแล้ว และเหลือเพียงราว 42,000 ล้านบาทที่รอเบิกจ่าย 

EIC คาดเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนรอบด้านกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปี 2023
 
 
สำหรับปี 2023 EIC คาดเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตดีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาหลายมิติ รวมถึงตลาดสำคัญในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้และกลางปีหน้า ตามลำดับ ส่งผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในส่วนที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก สำหรับความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังทำให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
 
 
เศรษฐกิจไทยในปี 2023 จะมีการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน เช่น ความไม่แน่นอนของจีนในการผ่อนคลายมาตรการ Zero covid ที่อาจใช้เวลานานกว่าคาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยน้อยลงและช้าลง รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายช้าลง ภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในช่วงต้นปี 2023 

KEY POINTS
เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามของปี 2022 ขยายตัว 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หรือคิดเป็น 1.2% เทียบกับไตรมาสก่อน หลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ_sa) ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ 2.5%YOY หรือ 0.7%QOQ_sa

ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) องค์ประกอบส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่แรงส่งจากภาครัฐลดลง
 
• การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวมากถึง 9% เร่งตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส และขยายตัวทุกหมวดสินค้าจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน การดำเนินชีวิตที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น แนวโน้มการท่องเที่ยวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมาก รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม มีแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสด อาหารสำเร็จรูป และพลังงาน 
 
• การลงทุนภาครัฐหดตัว -7.3% ต่อเนื่องจากการหดตัว -9% ในไตรมาสก่อน จากการลงทุนของรัฐบาลที่หดตัว -11.8% ในขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังขยายตัวได้ 1.1% โดยในไตรมาสนี้ การลงทุนภาครัฐหดตัวจากด้านเครื่องจักรเครื่องมือ -11.6% จากการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ที่ลดลง อีกทั้ง รัฐวิสาหกิจบางแห่งลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือลดลง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการประปานครหลวง สำหรับการลงทุนก่อสร้างขยายตัว 5.9% ชะลอลงจาก 6.6% ในไตรมาสก่อน 
 
• การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวมากถึง 11% เร่งตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส จากการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือที่ขยายตัว 13.9% โดยขยายตัวดีในหมวดยานยนต์และเครื่องใช้สำนักงาน (คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร) ขณะที่การลงทุนก่อสร้างพลิกกลับมาขยายตัว 2% หลังจากหดตัว -1.3% ในไตรมาสก่อน จากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวต่อเนื่อง
 
• การบริโภคภาครัฐหดตัว -0.6% หลังจากที่ขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงในช่วงสองไตรมาสก่อน การหดตัวในไตรมาสนี้เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการที่หดตัว -7.8% อีกทั้ง การโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการชะลอตัวเหลือ 9.9% จากที่ขยายตัว 17% ในไตรมาสก่อน
 
• ปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัว 2.7% แม้ขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 7 แต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอที่สุดในรอบ 7 ไตรมาสเช่นกัน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีจากการส่งออกน้ำตาลทราย แผงวงจรรวม เครื่องปรับอากาศ รถบรรทุก ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักร ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรลดลงจากการส่งออกผลไม้เป็นสำคัญ สำหรับสินค้าเกษตรสำคัญอื่นหลายสินค้ายังขยายตัวได้ 
 
• ปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวเร่งกว่าการส่งออกอยู่ที่ 8% โดยเร่งตัวจาก 7.1% ในไตรมาสก่อน โดยการนำเข้าสินค้าในไตรมาสนี้ขยายตัวทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและวัตถุดิบ สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การนำเข้าทองคำขยายตัวสูง อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักร
 
• การส่งออกภาคบริการขยายตัว 87% เร่งตัวขึ้นจาก 54.3% ในไตรมาสก่อน จากรายที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว รวมถึงรายรับจากค่าบริการอื่น ๆ ทางธุรกิจที่ขยายตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่การนำเข้าบริการขยายตัว 8.9% ด้วยสาเหตุเดียวกัน
 
• มูลค่าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น 216,443 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อน ในไตรมาสนี้การสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่สินค้าเกษตรและเหมืองแร่สะสมสินค้าคงคลังลดลง โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่อยู่นอกฤดูกาลเก็บเกี่ยวและข้าวสารที่มีผลผลิตลดลง อีกทั้ง มีการบริโภคในประเทศและการส่งออกที่มากขึ้น
ในด้านการผลิต (Production approach) เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคบริการ อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ขณะที่ภาคเกษตรหดตัว
 
• ภาคการเกษตรหดตัว -2.3% หลังจากขยายตัว 4.4% ในไตรมาสก่อน โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิตมันสำปะหลัง ผลไม้ (โดยเฉพาะทุเรียนและสับปะรด) และประมง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุทกภัยในหลายพื้นที่ ขณะที่ผลผลิตข้าว ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์เพิ่มขึ้น
 
• ภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัว 4.7% หลังจากหดตัว -1.8% ในไตรมาสก่อน โดยสาขาการผลิตอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัวมากถึง 6.3% ตามการขยายตัวของอุปสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศ ขณะที่สาขาเหมืองแร่และเหมืองหินหดตัวต่อเนื่อง -14.8% จาก -22.4% ในไตรมาสก่อน โดยการผลิตลดลงหลักทุกรายการ ทั้งแร่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ หิน ทราย และดิน
 
• ภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้น 5.3% จาก 4.5% ในไตรมาสก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวสูง โดยสาขาที่พักแรมและอาหารขยายตัวได้ถึง 53.6% ตามด้วยสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าที่ขยายตัว 9.9% และสาขาข่าวสารและการสื่อสารที่ขยายตัว 4.9% อย่างไรก็ตาม สาขาการก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง -2.8% จาก -4.5% ในไตรมาสก่อน จากการก่อสร้างถนน สะพาน อาคารของภาครัฐที่ลดลง ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนปรับดีขึ้น

IMPLICATIONS
 
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2022 ฟื้นตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามของปี 2022 ขยายตัวต่อเนื่องสี่ไตรมาสติดต่อกันที่ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐาน เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสสามของปี 2021 ที่เผชิญวิกฤตโควิดจนต้องปิดเมืองและปิดประเทศจากนโยบายควบคุมการระบาดเข้มงวด หากพิจารณาการขยายตัวเทียบกับเดือนก่อนหลังปรับปัจจัยฤดูกาล (QOQ_sa) พบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.2% เร่งขึ้นจาก 0.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่เดิมซบเซาจากการระบาดของโควิดและมาตรการควบคุมโรคได้ฟื้นตัวขึ้นมากตามการเปิดเมืองและเปิดประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 
 
มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและจำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยมากถึง 5.7 ล้านคน และ 144.5 ล้านคน เทียบกับ 85,000 คน และ 40 ล้านคนใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2021 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา แรงสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ในไตรมาสนี้แรงสนับสนุนจากภาครัฐแผ่วลงตามเม็ดเงินที่มีจำกัดมากขึ้น 
 
หากพิจารณาฝั่งการผลิต (Production approach) พบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้จากเดิมที่หดตัวในไตรมาสก่อน ภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและขยายตัวเร่งขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ดี ภาคก่อสร้างยังคงหดตัวตามการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลง ประกอบกับการหดตัวของภาคเกษตรตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและกระทบการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการขนส่ง
 
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 นำโดยภาคการท่องเที่ยว EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยราว 10.3 ล้านคน ตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) การทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก อีกทั้ง จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเองก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเป็น 202.4 ล้านคนในปี 2022 ทั้งนี้คาดว่าในไตรมาส 4 ผู้เยี่ยมเยือนไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วง High season โดยจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานจะเป็นจุดหมายที่ดึงดูด
ผู้เยี่ยมเยือนไทยได้ดีในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ภาคบริการ โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง การบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานกลับมาเป็นปกติมากขึ้น 
 
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าแม้อาจได้รับอานิสงส์จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และวัตถุดิบ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย แต่ในภาพรวมมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อีกทั้ง เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเต็มจำนวนแล้ว และรอเบิกจ่ายอีกราว 42,000 ล้านบาท 

EIC คาดเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนรอบด้านกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปี 2023
 
สำหรับปี 2023 EIC คาดเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง (รูปที่ 5) เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศจากการส่งออกที่ชะลอลง และปัจจัยภายในประเทศจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ซบเซาและฟื้นตัวช้า รวมถึงตลาดสำคัญทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้และกลางปีหน้า ตามลำดับ ส่งผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ด้านแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะมีน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังทำให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในปี 2023 ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ปรับสูงขึ้นและความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเศรษฐกิจไทยจะได้ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ แต่ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน 
เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำจากปัจจัยภายนอกประเทศเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป โดยเฉพาะในปี 2023 ได้แก่ (1) เศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ 
 
 
 
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย (2) การใช้นโยบาย Zero covid ของจีนที่อาจยาวนานกว่าคาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยได้น้อยลงและช้าลง รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายได้ช้าลง (3) ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง (4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จนอาจกระทบต่อความสามารถ
 
 
ในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ (5) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในช่วงต้นปี 2023 รวมถึงภาระทางการคลังที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายอุดหนุนต่าง ๆ ภายหลังการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการใช้มาตรการการพยุงค่าครองชีพเป็นวงกว้าง 
ทั้งนี้ EIC กำลังติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ และจะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
 
 
 
 
 
 
 
 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)             
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส                                                     
 
 
 
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th)
นักวิเคราะห์

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักวิเคราะห์
 
 

LastUpdate 22/11/2565 14:40:17 โดย : Admin
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 11:29 pm