รมช.สินิตย์ สั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจนิติบุคคลเข้ม ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ป้องปรามธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี เผยปี 2564 - 2565 พบนิติบุคคลที่อาจกระทำผิดในลักษณะนอมินี 148 ราย จาก 3 ธุรกิจ * ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว * ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ การถือครองอสังหาริมทรัพย์ * ธุรกิจบริการ ...ส่ง DSI สืบสวนสอบสวนเชิงลึก พร้อมดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การกระทำความผิดเกี่ยวกับการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีคนไทยยอมรับผลประโยชน์ หรือสมยอม หรือที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้หลีกเลี่ยงกฎหมาย นอมินีเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในวงกว้าง หากไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จะทำให้ไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดแนวทางการป้องปรามธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล กล่าวคือ ก่อนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล กำหนดให้ส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนเองได้ และภายหลังจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะจัดทำข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง และกำหนดเป็นแผนงานโครงการประจำปีเพื่อดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป ซึ่งบางกรณีอาจมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตำรวจท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการดำเนินการตรวจสอบคนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) หรือ มีการสนับสนุนให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 การตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวนั้น ได้พิจารณาลักษณะพฤติกรรมและข้อบ่งชี้หลายด้าน เช่น ธุรกิจที่มีคนต่างด้าวลงทุนหรือถือหุ้นไม่ถึงร้อยละ 50 แต่ให้คนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ หรือให้สิทธิการออกเสียงลงคะแนน การจ่ายเงินปันผล การแบ่งคืนทุนเมื่อเลิกกิจการแก่คนต่างด้าวมากกว่าคนไทย นอกจากนี้ แหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจเป็นการกู้ยืมจากคนต่างด้าว หรือมีการกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าว โดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติในทางการค้าหรือทางธุรกิจการเงินทั่วไป เป็นต้น
ปี 2564 - 2565 กรมฯ ได้ตรวจสอบนิติบุคคลไทยที่มีคนต่างด้าวร่วมถือหุ้นที่อาจมีลักษณะนอมินี โดยมีเป้าหมาย 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1) ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว 2) ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ การถือครองอสังหาริมทรัพย์ และ 3) ธุรกิจบริการ ผลการตรวจสอบพบนิติบุคคลที่อาจกระทำผิดในลักษณะนอมินี จำนวนทั้งสิ้น 148 ราย (จ.ภูเก็ต 140 ราย จ.เชียงใหม่ 4 ราย จ.สุราษฎร์ธานี 3 ราย และกรุงเทพมหานคร 1 ราย) โดยตรวจพบกรณีบุคคลมีชื่อเป็นผู้ถือครองหุ้นในหลายบริษัท ซึ่งเมื่อประเมินความสามารถในการถือหุ้นหรือการลงทุนของผู้ถือหุ้นดังกล่าวแล้วเป็นที่น่าสงสัยว่าอาจมีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว
กรมฯ ได้นำส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำการสืบสวนสอบสวนในเชิงลึก ซึ่งขณะนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนการกระทำความผิดกลุ่มบุคคลดังกล่าว และอีกกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมอันน่าสงสัยว่ามีคนไทยให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมและสรุปผลก่อนส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับปี 2566 กรมฯ ได้มีการกำกับดูแลและตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินีอย่างต่อเนื่อง และจะตรวจสอบธุรกิจที่ปัจจุบันเป็นข่าวพบกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย โดยอาศัยนอมินีคนไทยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งนอกจากจะมีการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายแล้ว ยังได้เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเพื่อให้นิติบุคคลต่างด้าวมีความเข้าใจพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ระเบียบขั้นตอนแนวทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สาระสำคัญของกฎหมาย ธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจ ตลอดจน โทษที่จะได้รับหากมีการฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกำกับดูแลให้ธุรกิจมีธรรมาภิบาลปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ท้ายนี้ ขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในลักษณะนอมินี รวมทั้ง กรรมการบริษัทก็ต้องรับผิดด้วย โดยมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน” รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD
ข่าวเด่น