การค้า-อุตสาหกรรม
เกษตรกรหมู ยกนิ้ว กรมปศุสัตว์ "ฟันไม่เลี้ยง" กวาดล้างหมูเถื่อน


 
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ-เกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งผู้บริโภคขอขอบคุณ รมว.เกษตรฯ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ เอาจริงปราบปรามหมูเถื่อนต่อเนื่อง ขอเร่งจัดการให้สิ้นซาก ตัดตอนขบวนการโดยเร็ว หวั่น ASF ปนเปื้อนแพร่ระบาดในไทย กระทบผู้เลี้ยงที่เพิ่งกลับเข้าเลี้ยง

 
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อนของกรมปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับได้ล็อตใหญ่ปริมาณกว่า 439,500 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการลักลอบนำเข้า โดยไม่มีกาตรวจสอบความปลอดภัย หรือตรวจสอบโรคระบาด จากห้องเย็นหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นความมุ่งมั่น จริงจังของกรมปศุสัตว์ภายใต้การนำของอธิบดีกรมปศุสัตว์คนใหม่ที่มีความพยายามดำเนินการตัดตอนโดยเร็ว ซึ่งการปราบหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาในหลายช่องทาง เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่อาจปนเปื้อนเข้ามากับเนื้อหมูและเครื่องในที่ลักลอบนำเข้า ที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการเร่งเพิ่มซัพพลายเนื้อหมูในประเทศ ที่ทางสมาคมฯได้เร่งส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยทยอยกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง

 
“การที่ รมว.เกษตรฯ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ มีนโยบายเร่งปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งช่วยผลักดันให้มีการดำเนินการกับกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสและหาประโยชน์จากคนไทย เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้เลี้ยงสุกร ที่ขณะนี้เพิ่งกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้มีความมั่นใจ และยังเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ เนื่องจากหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามามีความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะนำโรคระบาดเข้ามาด้วย” นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าว

 
อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า การลักลอบนำเข้าหมูจากหลายแหล่ง เป็นขบวนการที่สำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ เช่น อาหารทะเล หรืออาหารสัตว์ ทำให้ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโรคสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์ และไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้า นอกจากนี้หลายประเทศทางตะวันตกอนุญาตให้สามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้บริโภค จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้บริโภคคนไทย และผิดกฎหมายไทยที่ประกาศ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” มานานกว่า 20 ปี ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 กระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ.2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546

 
“ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัยในอาหาร” นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 พ.ย. 2565 เวลา : 20:41:46
21-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 21, 2025, 8:54 pm