การเข้าใจ Corporate Actions ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อโครงสร้างเงินทุนและราคาหุ้นของบริษัท ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยเหตุการณ์ที่เรามักจะเจอกันอยู่บ่อย ๆ ก็อย่างเช่น การเพิ่มทุน การแตกพาร์ รวมไปถึงการซื้อหุ้นคืน
เมื่อหุ้นที่เราถืออยู่มีการซื้อหุ้นคืน จะเกิดผลดีหรือผลเสียอะไรบ้าง แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลย
การซื้อหุ้นคืน คืออะไร?
การซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) คือ การที่บริษัทจดทะเบียนนำเงินสดไปซื้อหุ้นของบริษัทตัวเองจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ มาเก็บไว้เอง ทำให้จำนวนหุ้นที่ซื้อขายหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง
เราจะเรียกหุ้นที่บริษัทซื้อว่า “หุ้นซื้อคืน” หรือ Treasury-Stock ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้จะไม่ถูกนับเป็นองค์ประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้น ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะคะแนน และไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล
หุ้นซื้อคืนจะถือไว้ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ท้ายที่สุดบริษัทต้องขายออกไปในเวลาที่กำหนด คือ เมื่อถือหุ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และนานสุดไม่เกิน 3 ปี ถ้าบริษัทไม่นำกลับมาขายในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ หรือเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป ก็จะต้องดำเนินการลดทุน ด้วยการตัดหุ้นจดทะเบียนที่ซื้อคืนทิ้งไป
ทำไมบริษัทต้องซื้อหุ้นคืน?
สาเหตุที่ทำให้บริษัทตัดสินใจซื้อหุ้นคืน มักจะมาจากเหตุผล 3 ประการ ดังนี้
1. ส่งสัญญาณว่าราคาหุ้นต่ำเกินไป
เวลาหุ้นตกมาก ๆ เช่น ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ นักลงทุนไม่เข้าใจการดำเนินธุรกิจ ผลประกอบการไม่เป็นตามที่คาดหวัง กระทั่งขาดความเชื่อมั่นในตัวบริษัท เป็นต้น ทำให้บางครั้งบริษัทอาจจะมองว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดตอนนี้ ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น และไม่สะท้อนมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง
จึงตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นในตลาดกลับคืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในระยะสั้น และส่งสัญญาณทางอ้อมให้รู้ว่าราคาหุ้นต่ำเกินไปแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วในระยะยาวหากราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น บริษัทยังสามารถนำหุ้นที่ซื้อคืนกลับมาขายในตลาดได้อีกครั้ง
2. ปรับโครงสร้างทางการเงิน
เกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทมีกำไรสะสม หรือเหลือเงินสดในมือมากเกินไป และยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเงินส่วนนั้นไปใช้ลงทุน ทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะนำเงินที่เหลือมาซื้อหุ้นคืนนั่นเอง
นอกจากนี้ การซื้อหุ้นคืนยังสามารถทำให้อัตราส่วนทางการเงินดูดีขึ้น เนื่องจากเป็นการลดจำนวนหุ้นในตลาด ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ลดลง ซึ่งส่งผลต่อไปยังอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ เช่น EPS, ROE, P/E และ DPS เป็นต้น
3. แก้ปัญหาเมื่อผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับนโยบายบริษัท
เมื่อมีผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียง หรือสิทธิในการรับเงินปันผล บริษัทสามารถเสนอการซื้อหุ้นคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นดังกล่าว เพื่อลดจำนวนผู้เกี่ยวข้อง ทำให้บริษัทมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น
วิธีการซื้อหุ้นคืน ทำอย่างไร?
บริษัทที่จะสามารถซื้อหุ้นคืนได้ มีข้อกำหนดว่าต้องมีกำไรสะสม มีสภาพคล่องส่วนเกิน และต้องไม่ทำให้สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 15%
หากซื้อหุ้นคืน ≤ 10% ของทุนชำระแล้ว คณะกรรมการมีอำนาจตัดสินใจในการซื้อหุ้นคืนได้
หากซื้อหุ้นคืน >10% ของทุนชำระแล้ว ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น
สำหรับวิธีการซื้อหุ้นคืนกรณีเพื่อบริหารทางการเงิน สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การเข้าซื้อผ่านกระดานตลาดหลักทรัพย์ และการตั้งโต๊ะเสนอซื้อเป็นการทั่วไป (General Offer: GO) (หากซื้อหุ้นคืน > 10% ของทุนชำระแล้ว ต้องซื้อแบบ GO เท่านั้น)
แต่หากเป็นการซื้อหุ้นคืนกรณีผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจะต้องส่งคำเสนอซื้อหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นดังกล่าว และให้แจ้งความประสงค์จะขายหุ้นคืนให้บริษัท
ควรทำอย่างไร เมื่อบริษัทซื้อหุ้นคืน
ผลของการซื้อหุ้นคืนมีทั้งข้อดีและข้อที่ต้องระวัง ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ
ข้อดีการซื้อหุ้นคืน
• ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น เพราะว่าจำนวนหุ้นในตลาดลดลง (Supply) และเกิดความคาดหวังของตลาดในระยะสั้นที่มองว่าหุ้นควรเป็นขาขึ้นจากการที่มีเงินของนักลงทุนรายใหญ่มาไล่ซื้อหุ้น
• กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีกำไร 100 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นในตลาด 5 ล้านหุ้น แปลว่ากำไรต่อหุ้นเท่ากับ 20 บาทต่อหุ้น คราวนี้หากบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน จำนวน 1 ล้านหุ้น ทำให้จำนวนหุ้นในตลาดเหลือ 4 ล้านหุ้น ซึ่งหากบริษัทยังทำกำไรได้เท่าเดิม แปลว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มเป็น 25 บาทต่อหุ้น
• เงินปันผลต่อหุ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีจำนวนผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับปันผลหายไป ทำให้เงินปันผลต่อหุ้น (Dividend Per Share) เพิ่มขึ้น
• อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้น เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นที่เป็นตัวหารถูกปรับลดลง ทำให้ ROE สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ
• สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริหารต่อตัวบริษัท เนื่องจากถึงขนาดยอมควักเงินซื้อหุ้นตัวเองกลับคืนมา
ข้อควรระวังของการซื้อหุ้นคืน
• อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้น ทำให้อาจกระทบต่อความเสี่ยงเรื่องหนี้สิน และข้อจำกัดในการขยายธุรกิจในอนาคต
• เสียโอกาสสร้างการเติบโต เพราะการที่บริษัทเลือกนำเงินมาซื้อทุน แทนที่จะนำไปลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อขยายธุรกิจ ก็อาจทำให้อัตราการเติบโตในอนาคตช้าลงได้ รวมถึงเสียความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย หากเป็นการซื้อหุ้นคืนในช่วงที่ธุรกิจกำลังมีวิกฤต
• สภาพคล่องของหุ้น (Free Float) ลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดเล็กที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยอยู่แล้ว
• โดนตัวเลขทางการเงินหลอกตา หลังการซื้อหุ้นคืน นักลงทุนต้องดูผลประกอบการให้ดี เพราะอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่ดูดีขึ้นนั้น บางทีอาจจะไม่ได้เติบโตจริง ๆ ก็ได้ เช่น บริษัทซื้อหุ้นคืนที่ 10% ของทุน แปลว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้น 10% อัตโนมัติ เพราะฉะนั้น ถ้ากำไรต่อหุ้นโตไม่ถึง 10% ก็แปลได้ว่าธุรกิจมีการชะลอตัวลง
สรุปแล้วจะเห็นว่าการซื้อหุ้นคืนมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่นักลงทุนต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ที่สำคัญคือหลายบริษัทมักใช้เครื่องมือนี้ในช่วงตลาดตกต่ำหรือเกิดวิกฤตบางอย่าง จึงยิ่งทำให้การวิเคราะห์ยากไปอีกขั้น แนะนำให้นักลงทุนพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างรอบด้าน เพื่อเจาะลึกเหตุผลจริง ๆ ถึงการตัดสินใจต่าง ๆ ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์
ข่าวเด่น