กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจเข้มผู้ทำบัญชี หลังพบผู้ทำบัญชีบกพร่องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องการแจ้งชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชี จำนวน 6,973 ราย ออกหนังสือเตือนปฏิบัติให้ถูกต้อง พร้อมเรียกผู้ทำบัญชี 64 ราย เข้าชี้แจง เหตุรับทำบัญชีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากพบตั้งใจกระทำความผิดส่งดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สร้างความเชื่อมั่นภาคการลงทุนของประเทศ แนะ!! ภาคธุรกิจต้องตรวจสอบตัวตนคนทำบัญชีอย่างรอบคอบว่ามีตัวตนจริง ไม่ใช่นายหน้า หรือมิจฉาชีพ ป้องกันปัญหาเสียเงินซ้ำซ้อนทั้งค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าปรับ และปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา รวมทั้ง อาจขาดความน่าเชื่อถือ และสูญเสียพันธมิตรทางธุรกิจ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ทำบัญชีรวมทั้งสิ้น 78,858 ราย จำนวนนี้มีชื่อเป็นผู้ทำบัญชีในการนำส่งงบการเงินของธุรกิจรวมทั้งสิ้น 52,134 ราย จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า มีผู้ทำบัญชีที่บกพร่องในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี ทั้งเรื่องการแจ้งรายชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชีไม่ครบถ้วน หรือ แจ้งรายชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชีเกินกว่า 30 วันนับจากวันที่รับจ้างทำบัญชีจากธุรกิจ จำนวน 6,973 ราย โดยกรมฯ ได้มีหนังสือเตือนผู้ทำบัญชีให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังพบมีผู้ทำบัญชีจำนวน 64 ราย รับทำบัญชีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ เกินกว่า 100 รายธุรกิจ ซึ่งกรมฯ ได้มีหนังสือเรียกให้เข้าชี้แจง หากพบตั้งใจกระทำความผิดจะส่งดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ธุรกิจในฐานะผู้ว่าจ้างผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ทั้งผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี เพื่อป้องกันการจ้างงานที่ไม่ได้งาน ก่อนว่าจ้างงาน ธุรกิจควรตรวจสอบและสอบถามผู้ทำบัญชีว่า ยังคงเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีฯ อยู่หรือไม่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ เมื่อตกลงว่าจ้างแล้ว ควรจัดทำสัญญาจ้างงาน กำหนดขอบเขตการจ้างงาน และราคาให้ชัดเจน รวมทั้ง หลังจากที่ได้มีการว่าจ้างผู้ทำบัญชีแล้ว ควรตรวจค้นข้อมูลว่า ผู้ทำบัญชีได้แจ้งรายชื่อธุรกิจ (ที่ว่าจ้าง) กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือยัง ทาง www.dbd.go.th >> บริการออนไลน์ >> ผู้ทำบัญชี e-Accountant >> ตรวจค้นข้อมูลผู้ทำบัญชีของนิติบุคคล
และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงบการเงินที่จัดทำขึ้นโดยผู้ทำบัญชี เมื่อภาคธุรกิจจะจัดหาผู้สอบบัญชี ก็ต้องเช็คว่าเป็นผู้สอบบัญชีจริง ไม่ใช่นายหน้า หรือมิจฉาชีพ ตกลงการว่าจ้างผ่านหนังสือตอบรับงาน และควรตรวจค้นข้อมูลว่า ผู้สอบบัญชีได้แจ้งรายชื่อธุรกิจ (ที่ว่าจ้าง) กับสภาวิชาชีพบัญชีฯ แล้วทาง www.tfac.or.th >>TFAC Online Service >> ตรวจค้นข้อมูลผู้สอบบัญชีของนิติบุคคล
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า เพื่อส่งเสริมให้มีการทำบัญชีตามหลักการของกฎหมายบัญชี ย้ำเตือนหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันระหว่างธุรกิจกับผู้ทำบัญชี เปิดทุกข้อบกพร่องที่มักพบจากการตรวจบัญชีของธุรกิจ พร้อมให้
คำแนะนำและแจงทุกขั้นตอนเพื่อให้ผู้ทำบัญชีปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชีทุกข้อ รวมทั้ง ตระหนักถึงจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ด้านการทำบัญชี กรมฯ จึงได้จัดอบรมโครงการ ‘ส่งเสริมองค์ความรู้ในการปฏิบัติตามกฎหมายบัญชีให้ถูกต้องแก่ผู้ทำบัญชี’ ผ่านช่องทางออนไลน์ (Zoom) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย!!! ให้กับผู้ทำบัญชีที่บกพร่องทั้ง 6,973 ราย และผู้ทำบัญชีที่ขึ้นทะเบียนใหม่ในปี 2565 อีก 3,273 ราย รวมทั้งสิ้น 10,246 ราย โดยมีกำหนดการจัดอบรมทุกสัปดาห์ รอบละ 500 ราย เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565 - วันพุธที่ 25 มกราคม 2566
กรมฯ หวังว่าผู้ทำบัญชีจะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับการปฏิบัติงาน ให้คำปรึกษา/ข้อแนะนำกับธุรกิจในการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 รวมทั้ง ผู้ทำบัญชีเองจะได้ปฏิบัติตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ.2557 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือ ตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และอาจส่งผลต่อการนำส่งงบการเงินของธุรกิจผ่านระบบ DBD e-filing” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองกำกับบัญชีธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4407 งานทะเบียนผู้ทำบัญชี โทร 0 2547 4395 คลินิกบัญชี โทร 0 2547 4396 e-mail: kkb.dbd2564@gmail.com, Line Open Chat : “DBD Accounting”, Facebook : “DBD Accounting กองกำกับบัญชีธุรกิจ”
#SuperDBD
ข่าวเด่น