"สับปะรดบ้านคา สายพันธุ์ปัตตาเวีย" รสชาติหวานฉ่ำ มีกลิ่นหอม สัมผัสเนื้อหนานิ่ม มีสีเหลืองสวย สามารถรับประทานได้ทั้งเนื้อและแกน ถือเป็นหนึ่งในของดีขึ้นชื่อของจังหวัดราชบุรี โดยการปลูกสับปะรดกระจายอยู่ใน 4 พื้นที่ อ.บ้านคา อ.ปากท่อ อ.สวนผึ้ง และอ.จอมบึง แบ่งเป็น สับปะรดประเภทเข้าโรงงาน พื้นที่รวม 150,000 ไร่ และสับปะรดประเภทรับประทานสด พื้นที่รวม 4,000 ไร่ โดย พื้นที่ อ.บ้านคา เป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่ใหญ่ที่สุดและมีความพิเศษ เนื่องจากลักษณะของดินปลูกเป็นดินภูเขาไฟ จนได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ตามประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ในขณะที่โรงเรียนวัดหนองพันจันทร์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ประชากรส่วนใหญ่โดยรอบโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองนักเรียนประกอบอาชีพปลูกสับปะรด ในบางช่วงผลผลิตเกิดการล้นตลาดทำให้สับปะรดมีราคาตกต่ำ และเกิดการเน่าเสียเป็นจำนวนมาก นักเรียนได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวจึงร่วมกันหาแนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดตั้งโครงการ “ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรด” (NPJ PINEAPPLE PRODUCT) เพื่อเป็นการฝึกทักษะชีวิต ทักษะการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับวัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในท้องถิ่นให้มีความทันสมัย แปลกใหม่ ปลอดภัย ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมให้นักเรียนตระหนัก และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในชุมชน และสามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ท้องถิ่น ได้อย่างยั่งยืน
นางสาวฐาปณี พวงงาม รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ได้กล่าวแสดงความยินดีกับทางโรงเรียน ที่มองเห็นโอกาสจากวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีมากมาย และสามารถสร้างจุดเด่น จนสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด โดยใช้ความรู้จากหลักสูตรท้องถิ่น ผ่านบุคคลากร ไปสู่นักเรียน จนเกิดความชำนาญ และจัดทำหลักสูตรการอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ตนเองได้รับจากการลงมือปฏิบัติจริง จนสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนที่ดียิ่งจาก ซีพี ออลล์
ด้านนางสาวสุชัญญา ชมภูพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองพันจันทร์ ได้กล่าวขอบคุณ ซีพี ออลล์ ที่มอบโอกาสทางด้านการศึกษาให้แก่เยาวชน โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของบริษัทฯ และนางสาวปภาวรินทร์ อินทร์ลอย School Partner หรือผู้นำรุ่นใหม่ของซีพี ออลล์ ผ่านโครงการสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ที่ช่วยผลักดันและร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาสับปะรดล้นตลาด ราคาตกต่ำ โดยมีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่21 และมีการบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมีครูผู้สอนจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ช่วยอำนวยความสะดวกในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดให้มีความทันสมัย เป็นที่นิยม และเกิดความยั่งยืน ผ่านกิจกรรมการแปรรูปจากสัปปะรดหลัก 8 กิจกรรม โดยแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้แก่
1. กิจกรรมไร่เพาะปลูกสัปปะรด
2. กิจกรรมวุ้นกรอบจากน้ำสับปะรด
3. กิจกรรมสับปะรดกวนแฟนซี
4. กิจกรรมน้ำพริกสับปะรด
5. กิจกรรมครีมขัดรองจากผงถ่านเปลือกสับปะรด
6. กิจกรรมคุกกี้สอดไส้สับปะรด
7. กิจกรรมสับปะรดอบกรอบ
8. กิจกรรมผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานจากสับปะรด
โดยได้วางแผนบรรจุ ฐานการเรียนรู้เป็นหลักสูตรสถานศึกษาบูรณาการกลุ่มสาระ 8 กลุ่มสาระตามหลักสูตรแกนกลาง สอนในชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนการสอน (Active Learning) โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ (Problem Based Learning) ก่อนขยายผลเปิดกว้างให้ชุมชน เกษตรกรรายรอบรวมถึงโรงเรียนอื่นๆเข้ามาศึกษาดูงานในอนาคตได้อีกด้วย
ทั้งนี้เด็กชายเอกสิทธิ์ มีมาก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า จากที่เคยช่วยครอบครัวในการปลูกสับปะรด แต่ยังไม่เคยทำครบทุกขั้นตอน แต่ตอนนี้ตนเองและเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่เตรียมดิน การปลูก การใส่ปุ๋ย การดูแล การเก็บผลผลิต รวมไปถึงการนำไปแปรรูป ซึ่งทำให้ตนเองสามารถนำเอาความรู้ตรงนี้ไปช่วยพัฒนาการทำไร่สับปะรดของครอบครัวได้ ถือเป็นการต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่แล้ว ให้มีคุณภาพ และได้ผลผลิตที่แปลกใหม่ ซึ่งจากการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติทำให้รู้ว่าสับปะรดสามารถแปรรูปได้หลากหลาย ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ของดีของชุมชนอีกหนึ่งช่องทาง
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 44 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า Education for better life วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 5 เฟส จำนวนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด
ข่าวเด่น