ไอที
วิศวะมหิดล - JAIST เตือนภัย...เผยผลวิจัย AI -Machine Learning ถูกโจมตีผ่านข้อมูลซ่อนในคิวอาร์โค้ดได้ ชี้ 2 แนวทางป้องกัน


โลกแห่งศตวรรษที่ 21 นั้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning (ML) ได้รับความนิยมเป็นซูเปอร์ฮิตดังแก้วสารพัดนึก แต่ยังมีคำถามว่าปลอดภัยไว้วางใจได้ 100% หรือไม่ ? ทีมวิศวกรนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JAIST (Japan Advanced Institute of Science and Technology) เปิดผลวิจัยสุดเซอร์ไพรส์โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ เรื่อง ‘การโจมตีการเรียนรู้ของเครื่องผ่านรูปแบบตัวอย่างปฏิปักษ์ (Attacking Machine Learning With Adversarial Examples)’ ชี้ให้เห็นว่า Machine Learning ยังมีช่องโหว่ภัยความเสี่ยงจากการโดนโจมตีที่จะสร้างความเสียหายได้ ตอกย้ำว่าแม้เทคโนโลยีจะเลิศล้ำเพียงใด ยังจำเป็นต้องมีมนุษย์ตรวจสอบเพื่อยืนยันผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้


รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI และ Machine Learning (ML) มีบทบาทในวิถีชีวิตของประชาชน การทำงาน และหลายธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น การแพทย์สุขภาพ ธุรกิจการค้า อีคอมเมิร์ซ ตลาดทุนการเงิน ยานยนต์ขนส่งโลจิสติกส์ โทรคมนาคม การผลิตในอุตสาหกรรม ความมั่นคงปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผลงานวิจัย ‘การโจมตีการเรียนรู้ของเครื่องผ่านรูปแบบตัวอย่างปฏิปักษ์’ นี้ได้รับการตีพิมพ์ใน ‘วารสารนานาชาติ Journal of Imaging’ ได้รับความสนใจอย่างสูงจากประชาคมโลก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการออกแบบการโจมตี ML Model ในรูปแบบของ QR Code ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงปลอดภัยของบริการที่เข้าถึงประชาชนและองค์กรในวงการต่างๆ สำหรับทีมนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น 3 คน มาจากการผนึกความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAIST) ประกอบด้วย ดร.กรินทร์ สุมังคะโยธิน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวะมหิดล ศ.โคตานิ คาซุโนริ และ ผศ.ปริญญา ศิริธนวันต์ จากสถาบัน JAIST

ดร.กรินทร์ สุมังคะโยธิน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย ว่า AI ปัญญาประดิษฐ์เป็นการทำให้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรฉลาด ส่วนMachine Learning (ML) เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของ AI โดยการนำเข้าข้อมูลสู่อัลกอริทึม เพื่อสร้างโครงข่ายการตัดสินใจในการคาดคะเนแนวโน้มหรือทำนายผลลัพธ์ คล้ายคลึงกับการตัดสินใจของมนุษย์ เพื่อลดภาระงานหนักและความผิดพลาดจากความเหนื่อยล้า ตัดสินใจได้รวดเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการทำงานของมนุษย์ อย่างไรก็ตามความเข้าใจถึงโครงสร้างการตัดสินใจของเน็ตเวิร์คโมเดลของ Machine Learning นั้นยังคงคลุมเครือ ทำให้ในปัจจุบัน Machine Learning สามารถถูกโจมตีผ่านความคลุมเครือดังกล่าวจากผู้ประสงค์ร้าย เพื่อใช้ประโยชน์จากผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยน ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิจัยจึงทำการศึกษาวิจัยด้านการโจมตี ML โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการโจมตีโดยมุ่งเน้นการโจมตีที่สามารถหลบหลีกการสังเกตุจากมนุษย์ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายหรือผลเสียได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการเงิน การรักษาพยาบาล การสื่อสาร คมนาคมขนส่ง ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ระบบการผลิต จนถึงระบบการป้องกันประเทศ

ทีมวิจัยวิศวะมหิดล - JAIST ใช้เวลาศึกษาวิจัยร่วมกันกว่า 3 ปี แม้จะมีอุปสรรคช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ก็สามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพระดับสูงของญี่ปุ่น เราได้ศึกษาวิเคราะห์และออกแบบ การโจมตีการเรียนรู้ของ ML ผ่านรูปแบบตัวอย่างปฏิปักษ์ บนสมมุติฐานโดยที่มีเป้าหมายในการโจมตี ML Model และสามารถหลบเลี่ยงการสังเกตจากมนุษย์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจผิดพลาดของเครื่องจักร โดยการโจมตีนั้นสามารถมุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์ใดๆ ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ โดยเราได้กำหนดรูปแบบการโจมตีผ่านข้อมูลที่ถูกซ่อนใน ‘รูปแบบ QR-Code’ สำหรับฟังก์ชั่นการทำงาน ของการโจมตีในรูปแบบ Adversarial Examples เป็นการหลอก AI ให้สับสน โดยการใส่ข้อมูลปนเปื้อนลงไปในข้อมูลเป้าหมาย อาทิ ข้อมูลภาพ, ข้อมูลเสียง, ข้อมูลสัญญาณ หรือ ข้อมูลประเภทอื่นๆ โดยผลการโจมตีนั้นมีทั้งแบบการกำหนดผลลัพธ์จากการโจมตีไว้ล่วงหน้า หรือ ทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากสิ่งที่ควรจะเป็นได้

 
สรุปผลการวิจัย สามารถบีบอัดให้ข้อมูลการโจมตีผ่านข้อมูลที่ถูกซ่อนใน QR-Code ที่สามารถแสกนได้ และยังคงความสามารถของการโจมตีแบบมุ่งเป้าหมายผลลัพธ์ได้เป็นอย่างดี นอกจากการใช้ในการทดสอบการโจมตี Machine Learning แล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังสามารถนำมาใช้พัฒนา ระบบป้องกันและตรวจจับการโจมตีจากการวิเคราะห์โดย ML Model ในหลายๆ วัตถุประสงค์อีกด้วย เช่น ปกป้องความเป็นส่วนตัว ระบบป้องกันทางการทหาร อีกด้วย เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าการตัดสินใจของ Machine Learning ควรใช้เป็นเพียงเครื่องมือและนวัตกรรมที่ช่วยลดภาระงานของมนุษย์เท่านั้น ท้ายสุดแล้วยังคงต้องได้รับการตรวจสอบจากมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อยืนยันผลลัพธ์เป็นขั้นตอนสุดท้าย

จากความสำเร็จของงานวิจัยชิ้นนี้ แผนในอนาคต ทีมวิจัยไทย-ญี่ปุ่น จะคิดค้นหาวิธีการที่สามารถโจมตีได้มีประสิทธิภาพในระดับสูงยิ่งขึ้นอีก เพื่อก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และยังคงไว้ซึ่งความสามารถในการทำงานของรูปแบบข้อมูลดั้งเดิม (เช่น การโจมตีในรูปแบบ QR-Code ต้อง Scan ได้ เป็นต้น)

สำหรับวิธีป้องกันการโจมตี Adversarial Example Attackในอนาคต มี 2 แนวทาง ได้แก่ 1.ใช้การโจมตี Adversarial Example เพื่อปกป้องข้อมูลจากการถูกตรวจสอบที่ไม่ได้รับอนุญาต 2.ใช้ข้อมูลที่ได้จากการโจมตี Adversarial Example นำกลับมาเพื่อวิเคราะห์ถึงการโจมตี และออกแบบ Machine Learning โมเดลที่ทนทานต่อการโจมตีมากยิ่งขึ้น

ข้อแนะนำในการใช้ Machine Learning อย่างปลอดภัย พึงระวังเสมอว่า ข้อมูลนำเข้าอาจถูกปนเปื้อนการโจมตีมุ่งเป้าในรูปแบบต่างๆ เช่น Adversarial Example หรืออาจพ่วงมากับมัลแวร์ ดังนั้นการใช้ Machine Learning เพื่อการทำงานที่มั่นคงและปลอดภัย มีความจำเป็นต้องมีวาง ระบบการตรวจสอบผลลัพธ์สุดท้ายโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความถูกต้องที่เชื่อถือได้อีกครั้ง อย่าปล่อยให้ Machine ทำงาน 100% ในปัจจุบัน AI และ Machine Learning ยังมีข้อจำกัดและจะเป็นตัวช่วยที่ดีได้ก็ต่อเมื่อทั้งคนและเครื่องจักรมีการคิดและทำงานประสานกันอย่างสมดุล ไม่อ้างอิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 พ.ย. 2565 เวลา : 05:54:28
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 2:31 pm