ซีเอสอาร์-เอชอาร์
CPF โชว์เคส "โครงการด้านความยั่งยืน" ปลูกจิตสำนึกพนักงาน ร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ปลูกฝังพนักงานร่วมสร้างคุณค่าทางสังคม มอบรางวัล CPF ยั่งยืนได้ด้วยมือเรา หรือ CPF Sustainability in Action Awards 2022 สร้างแรงบันดาลใจพนักงาน เพื่อคิดสร้างสรรค์โครงการที่มีผลทางบวก ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนแนวทาง BCG ตามเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)


 
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ประกาศเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานสู่การลงมือทำ สร้างความตระหนักและสร้างแรงบันดาลใจ ในการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยทุกๆ ปี ได้จัดประกวดโครงการ “CPF ยั่งยืนได้ด้วยมือเรา” หรือ CPF Sustainability in Action Awards 2022  ซึ่งในปี 2565 มีพนักงานจากสายธุรกิจต่างๆทั้งกิจการประเทศไทยและต่างประเทศ ส่งโครงการเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 92 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนความตั้งใจที่ดีในการสร้างคุณค่าทางสังคม

 
ผลการประกวดรางวัล CPF Sustainability in Action Awards 2022 มีโครงการที่ได้รับรางวัล 69 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศ 1 รางวัล ได้แก่ โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง จังหวัดตราด ของธุรกิจสัตว์น้ำ เป็นโครงการที่ซีพีเอฟให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง โดยมีพนักงานซีพีเอฟจิตอาสาร่วมขับเคลื่อนการทำงานกับชุมชนฯ  พัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่มีฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ปุ๋ยอินทรีย์นาโน ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน การทำกาบหมากเป็นภาชนะใส่อาหาร ที่สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน การทำผ้าย้อม 3 ป่า จากป่าชุมชน ป่าชายเลน และป่าสมุนไพร รวมถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้จัดการกับขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก

 
 
นอกจากนี้  ยังมีรางวัลยอดเยี่ยม 14 โครงการ รางวัลดีเด่น 17 โครงการ และรางวัลชมเชย 37 โครงการ เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการของซีพีเอฟ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก พิจารณาจากโครงการดำเนินงานตามแนวทางความยั่งยืน 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ และสอดรับตาม BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 
นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นสร้างความตระหนักสู่พนักงานร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย ในปี 2566 จะเน้นส่งเสริมให้เกิดการคิดค้น และนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาใช้ต่อยอดและขยายผลการดำเนินโครงการเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม สนับสนุนการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชน ตามเป้าหมาย CPF 2030 Sustainability in Action และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SustainableDevelopment Goals :SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายความยั่งยืนในระดับสากล

 
นอกจากการส่งเสริมพนักงานทำโครงการที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการจัดประกวดในองค์กรของซีพีเอฟแล้ว ยังสนับสนุนให้พนักงานส่งโครงการเข้าประกวดในระดับเครือซีพี คือ โครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน โดยในปี 2565 ซีพีเอฟส่งโครงการเข้าร่วมประกวดในโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน 74 โครงการ (กิจการในประเทศไทย) ได้รับรางวัล 12 โครงการ ซึ่งโครงการเหล่านี้ จะถูกนำไปขยายผลและต่อยอดเพื่อเป็นต้นแบบโครงการที่ดี เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 พ.ย. 2565 เวลา : 20:56:29
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 9:34 am