ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 77 - 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 – 2 ธันวาคม 2565)
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดยังกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในกรุงปักกิ่งและเมืองใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลยังคงใช้มาตรการล๊อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่กลุ่ม G7 เตรียมออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดิบรัสเซีย (Price cap) ก่อนถึงเส้นตายการห้ามซื้อขายน้ำมันดิบรัสเซียวันที่ 5 ธันวาคม นอกจากนี้ท่อส่งน้ำมัน CPC มีแผนจะกลับมาส่งออกน้ำมันในระดับปกติในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากทัศนะของประธานเฟดสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอตัวลง หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกัน ในการประชุม 4 ครั้งที่ผ่านมา
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนยังคงน่ากังวล หลังพบผู้เสียชีวิตครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จำนวน 3 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 31,000 คนต่อวัน นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ส่งผลให้รัฐบาลยังคงใช้มาตรการล๊อกดาวน์ที่เข้มงวดในเมืองกวางโจวและฉงชิ่ง และสั่งปิดสถานที่เสี่ยงในกรุงปักกิ่ง อาทิเช่น สวนสาธารณะ และห้างสรรพสินค้า เพื่อควบคุมสถานการณ์การ โดยการแพร่ระบาดครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายต่อนโยบาย Zero-COVID ของจีน หลังทางการเริ่มส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบาย จากการปรับลดจำนวนวันในการกักตัวลงในช่วงก่อนหน้านี้
Goldman Sachs คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบของจีนปรับลดลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับที่ 14 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่ 4 นี้ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาสที่ 4 ลง 10 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า สู่ระดับ 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล หลังมาตรการกำหนดราคาน้ำมัน (Price cap) ยังคงไม่มีความชัดเจน
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ปีนี้ ขึ้น 0.1 % จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 3.1 % และปี 2566 อยู่ที่ระดับ 2.2 % เช่นเดิม การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลกดดันต่อปริมาณการใช้น้ำมัน
กลุ่มประเทศ G7 เผยกรอบราคามาตรการกำหนดเพดานราคาขายน้ำมัน (Price cap) สำหรับการซื้อขายน้ำมันดิบรัสเซีย อยู่ที่ระดับ 65 – 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับกรอบราคานี้ โดยโปแลนด์มองว่าระดับราคาดังกล่าวสูงเกินไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียอยู่ที่ราว 20 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ประเทศในอุตสาหกรรมการขนส่ง มองว่าระดับราคาควรสูงกว่า 70 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้การกำหนดเพดานราคาอาจส่งผลให้การขนส่ง การประภัยทางเรือและการบริการทางการเงินต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้ หากมีการซื้อขายน้ำมันรัสเซียในระดับที่สูงกว่ามาตรการตรึงราคาน้ำมันดิบรัสเซีย แต่คาดว่าจะไม่เป็นปัญหาหากทำตามเพดานราคา
FGE คาดการณ์ว่าท่อส่งน้ำมัน CPC จะกลับมาส่งออกน้ำมันที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธันวาคม หลังท่อส่งน้ำมันกลับมาดำเนินการปกติและส่งออกน้ำมันที่ระดับ 1.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การกลับมาส่งออกอีกครั้งส่งผลให้ตลาดผ่อนคลายกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัว
หลังประธานเฟดสาขาเซนหลุยส์แสดงความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ควรอยู่ที่ระดับ 7 % ในปี 2566 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมายที่ระดับ 2 % ต่อปี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ได้ออกมาแสดงความเห็นว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นจะมีการชะลอตัวลง หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 7.7 % Y-o-Y ต่ำกว่าคาดที่ระดับ 7.9 %
เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 3/65 ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8 % จากไตรมาสก่อนหน้า และตัวเลขทางเศรษฐกิจของยุโรป ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต และอัตราการว่างงาน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 - 25 พฤศจิกายน 2565)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 3.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงน่ากังวลจากผู้ป่วยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งกดดันความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนหลังกลุ่มโอเปกปฏิเสธข่าวลือการปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม 2565 โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานกล่าวเพิ่มเติมว่าทางซาอุดีอาระเบียมีความพร้อมในการลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมเพื่อรักษาสมดุลของตลาด และรายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ปรับลดลง 3.69 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับตัวลดลงเพียง 2.61 ล้านบาร์เรล
ข่าวเด่น