เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC วิเคราะห์ "เศรษฐกิจโลกเริ่มทำพิษ ส่งออกไทยในเดือน ต.ค.หดตัวแรงสุดในรอบ 2 ปี ภาพส่งออกไทยปีหน้าดูไม่ค่อยสดใสนัก"


มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ต.ค. หดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือน 

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 21,772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -4.4%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ชะลอตัวลงมากจากเดือนก่อนที่ยังขยายตัวได้ 7.8%YOY และนับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือนและนับว่าเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปี หากเทียบกับเดือนก่อน ตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคม (แบบปรับฤดูกาล) หดตัว -8.5%MOM_sa หลังจากที่เคยขยายตัวได้ 6.9%MOM_sa ในเดือนก่อน ทั้งนี้หากพิจารณามูลค่าการส่งออกหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) เทียบกับเดือนกันยายนแบบปรับผลของฤดูกาลพบว่า การส่งออกไทยหดตัวมากถึง -12.5%MOM_sa สำหรับในภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2022 ขยายตัว 9.1%

สินค้าส่งออกหลักหดตัวทุกกลุ่ม ยกเว้นรถยนต์และส่วนประกอบ
ภาพรวมการส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือนตุลาคมหดตัวเกือบทุกกลุ่ม โดย (1) สินค้าเกษตรหดตัว -4.3% หลังจากพลิกกลับมาขยายตัว 2.7% ในเดือนกันยายน โดยเฉพาะยางพาราที่หดตัวลงมาก ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและไก่ยังขยายตัวได้ดี ในขณะที่ผลไม้เป็นสินค้าหลักที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว -2.3% หลังจากขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด 20 เดือน ทั้งนี้พบว่าการหดตัวของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบจากอุทกภัยในภาคเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงปลายเดือนตุลาคม อย่างไรก็ดี สถานการณ์น้ำท่วม
ในภาคเกษตรเริ่มคลี่คลายลงในช่วงปลายเดือนตุลาคม และคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีมากนัก (3) สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว -3.5% ลดลงมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวได้ 9.4% โดยสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกที่ยังขยายตัวได้ เช่น ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง) และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนหนึ่งจากปัญหาขาดแคลนชิปที่เริ่มคลี่คลาย สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -23.9% หลังจากขยายตัว 1.2% ในเดือนก่อนตามปัจจัยด้านราคาที่ชะลอตัวลง (5) การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปขยายตัวมากถึง 56.9%YOY ซึ่งจัดว่าเป็นสินค้าสนับสนุนการส่งออกที่สำคัญสุดในเดือนนี้ (รูปที่ 2) 

การส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวรุนแรง แต่ตลาด CLMV ยังขยายตัวได้ดี
การส่งออกรายตลาดหดตัวเกือบทุกตลาดหลัก สะท้อนอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว โดย (1) ตลาดจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ -8.5% เนื่องจากนโยบาย Zero COVID ที่ยังบังคับใช้อยู่ (2) ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป (EU28) หดตัว -0.9% และ -7.9% เทียบกับที่ขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้าที่ 26.1% และ 22.2% ในเดือนก่อน ตามลำดับ สอดคล้องกับสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงมากและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลักทั้งสองที่เพิ่มขึ้น (3) ตลาด CLMV ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง 10.6% ขณะที่ตลาด ASEAN5 หดตัว -13.1% จากที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวมากในเดือนนี้ 103.5% ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึง 159.8%

ดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่อง
มูลค่าการนำเข้าของไทยในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 22,368,8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวครั้งแรกในรอบ 21 เดือนที่ -2.3% จากเดือนก่อนที่ขยายตัวสูง 15.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านราคานำเข้าที่ชะลอตัว โดยการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวสูง -16.4% การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปและสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวเล็กน้อย -0.4% การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงแม้ยังขยายตัวได้ 7.5% แต่ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 19 เดือน สำหรับการนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งและอาวุธยุทธปัจจัยขยายตัวได้ 0.3% และ 2,993% (จากปัจจัยฐานต่ำ) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยชะลอตัวช้ากว่ามูลค่าการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าในระบบศุลกากรเดือนนี้ขาดดุล -596.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2022 มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 18.3% และดุลการค้าขาดดุล -15,581.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

EIC มองการส่งออกสินค้าไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และคาดขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023
 
แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะถัดไปดูไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอลงมาก โดย EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจบางประเทศหลักมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้ ตามด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ทั้งนี้สัญญาณอุปสงค์โลกชะลอตัวลงมากขึ้น (รูปที่ 3) สะท้อนจาก (1) ข้อมูลดัชนี Manufacturing PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงข้อมูล Exports order ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (2) ข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายนหดตัว -16.7% ซึ่งหดตัวสูงสุดในรอบ 30 เดือน โดยในเดือนนี้การส่งออกของเกาหลีใต้หดตัวรุนแรงในตลาดจีน (-28.3%) และฮ่องกง (-35.6%) ขณะที่การนำเข้าของเกาหลีใต้หดตัว -5.5% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี และ (3) การส่งออกของจีนในเดือนตุลาคมหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปีอยู่ที่ -0.3% นอกจากนี้ การนำเข้าของจีนหดตัว -0.7% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกเช่นกันนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 นอกจากนี้ จีนนำเข้าสินค้าไทยลดลง -14.5% นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทั้งนี้ข้อมูลการส่งออกและนำเข้าของจีนและเกาหลีใต้ที่ลดลงสะท้อนให้เห็นอุปสงค์ของตลาดโลกที่ลดลงชัดเจน (รูปที่ 4) (แม้ในตลาดจีนมีส่วนหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากการปิดเมืองเพื่อควบคุม COVID-19) และมีแนวโน้มสะท้อนให้เห็นอุปสงค์ของสินค้าจากไทยที่อาจลดลงเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ EIC จึงปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2023 มาอยู่ที่ 1.2% จากเดิม ณ เดือนกันยายน ที่ 2.5%
 
รูปที่ 1 : การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมหดตัวเป็นวงกว้าง เกือบทุกหมวดสินค้าและตลาดสำคัญ
  

 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 2 : ทองคำ (ไม่ขึ้นรูป) เป็นสินค้าหนุนการส่งออกของไทยที่สำคัญในเดือนตุลาคม
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 3 : แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงมากในปี 2023 ภายใต้ความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้น
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC และ Bloomberg

รูปที่ 4 : แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะถัดไปดูไม่ค่อยสดใสนัก
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของศุลกากรจีนและเกาหลีใต้ S&P Global, JP Morgan และ CEIC
 
 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส      
 
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักวิเคราะห์

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC)  และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
 
วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 
จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์
 
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์
 
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์
 
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์
 
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักวิเคราะห์
 

LastUpdate 28/11/2565 20:04:59 โดย : Admin
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 7:34 pm