ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ชี้ ตลาดหุ้นพุ่งรับข่าวธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว ชี้ ปี 2566 นักลงทุนอาจเทขายหุ้นอีกรอบ เพราะอัตราเงินเฟ้อน่าจะยังคงตัวในระดับสูง หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปให้ถึงระดับ 5% หรือมากกว่า และคงดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไปตลอดทั้งปีเป็นอย่างน้อย แถมราคาหุ้นยังไม่ได้ถูก แนะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รับผลตอบแทนดีกว่าหุ้น หรือซื้อหุ้นเฮลธ์แคร์และเทคโนโลยี ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเด่น
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในปี 2566 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) มองว่า ตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้น และมีความเสี่ยงยังต่ำกว่ามาก โดยมองว่า Bond Yield สหรัฐฯ ที่ระดับราว 4% ในปัจจุบันนั้น ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจและได้สะท้อนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว โดยหาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยไปหยุดที่ 5% ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ตามที่คาดไว้ Bond Yield ในปีหน้าอาจจะทรงตัวอยู่ระดับใกล้เคียง 4% ในช่วงปลายปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวลดลงในปีหน้าตามการทยอยลดลงของอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐฯ
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้น สามารถรอจังหวะเข้าทยอยสะสมอีกครั้งเมื่อดัชนี S&P 500 ลงมาต่ำกว่า 3600 จุด โดยเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ที่กำไรไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจและโตได้ในระยะยาว และหุ้นเทคโนโลยีที่ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลงมามาก และมีแนวโน้มฟื้นตัวในภาวะที่ Bond Yield เป็นขาลงในปี 2566
นายคมศรกล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนมุมมองการลงทุนข้างต้น มาจากที่ในเดือนพฤศจิกายนดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P 500 ฟื้นตัวขึ้นมาราว 12% จากจุดต่ำสุดของปีนี้ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม โดยตลาดหุ้นปรับขึ้นมารับข่าวตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาส่งสัญญาณว่า ในการประชุมเดือนธันวาคม 2565 นี้จะเริ่มชะลอความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยลงจาก 75 bps ต่อการประชุม ลงเหลือ 50 bps
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ประเมินว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนได้สะท้อนข่าวดีจากการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว เพราะในอดีตตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) จะฟื้นตัวขึ้นเฉลี่ย 12% ในช่วง 6 เดือนหลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 ดังนั้น จึงมองว่าตลาดหุ้นในปัจจุบันได้สะท้อนข่าวดีเรื่องการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม 2565 และการหยุดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าไปมากแล้ว
นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้คาดว่า ในปีหน้าอาจเห็นการเทขายหุ้นได้อีกระลอก เพราะคาดว่า ในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังค้างสูงเกินกว่าระดับ 4% ห่างไกลจากเป้าหมายของ Fed ที่ 2% อยู่มาก นอกจากนั้น การเปิดประเทศของจีนในปีหน้าอาจทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งทำให้ Fed จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยไปให้ถึงระดับ 5% หรือมากกว่าและคงดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไปตลอดทั้งปีเป็นอย่างน้อย จึงอาจเป็นปัจจัยลบที่ทำให้นักลงทุนที่คาดว่าจะได้เห็น Fed กลับมาลดดอกเบี้ยในได้ในช่วงปลายปีหน้าผิดหวังและเกิดการเทขายหุ้นได้อีกระลอก
“ที่ผ่านมา จะพบว่า Fed เองก็ยังย้ำถึงความเสี่ยงจากการกลับมาลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป โดยกรรมการ Fed หลายคนได้อ้างถึงบทเรียนในทศวรรษที่ 1970 ที่ Fed ดำเนินนโยบายผิดพลาด โดยขึ้นดอกเบี้ยน้อยเกินไปและกลับมาลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป
ซึ่งทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นจาก 5% ในปี 2513 ไปสูงสุดถึง 15% ในปี 2523 ในขณะที่เศรษฐกิจก็เติบโตอย่างกระท่อนกระแท่นและประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยถึง 4 ครั้งในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี” นายคมศรกล่าว
นายคมศรกล่าวอีกว่า หากจะพิจารณาในแง่ของมูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นยังนับว่าไม่ได้ถูก โดยค่าอัตราปิดต่อราคาหุ้น (P/E) ของดัชนี S&P 500 ในปัจจุบันอยู่ที่ราว 17 เท่า ซึ่งนับว่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงปี 2546 – 2557 ที่ 14 เท่า ก่อนที่ภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำจะดันให้ตลาดขึ้นมาเทรดที่ค่าเฉลี่ย P/E 18 เท่าในช่วงปี 2558 – 2564 ดังนั้น ตลาดหุ้นก็อาจมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานลงได้อีกหากมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตรที่ยังคงร้อนแรงและคาดเดาได้ยาก
ข่าวเด่น