?โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 23 เป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2561 – จนถึงปัจจุบัน เป็นการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรม กระบวนการเรียนรู้ ตามรอยพระราชา The King’s Journey และการถ่ายทอดการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับการเชื่อมโยงนโยบาย Sustainable Development Goals เป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเป็นการบูรณาการกระบวนการออกแบบกิจกรรม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถถ่ายทอด “ศาสตร์พระราชา”ที่สร้างแรงบันดาลใจ เกิดพลังการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมกับการปลูกฝังคุณธรรม 5 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู มาสู่กระบวนการถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ด้วยบอร์ดเกม โดยสอดแทรกการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยหลักภูมิปัญญาและความซื่อสัตย์สุจริตตลอดจนหลักการเดินทางสายกลาง ความสมเหตุสมผลและความรอบคอบตามแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตามกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้า อย่างยั่งยืน” (Transformation to Hi-Value and Sustainable Thailand)
?
โดยจัดทำกิจกรรมในรูปแบบการลงพื้นที่จริงในโครงการพระราชดำริ ที่มีอยู่มากกว่า 4,800 โครงการทั่วประเทศ และการอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย ที่ประกอบด้วยครูอาจารย์ทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนการสร้างหลักสูตร เพื่อการขยายผล และกิจกรรม สร้างวิทยากรให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สากลเป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมโลกได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ และปราชญ์ชาวบ้านในแหล่งเรียนรู้ ให้เป็นวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม “ตามรอยพระราชา”
??
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ ๒๓ จึงได้จัดการลงพื้นที่ดูงาน เป็นครั้งแรก ณ ศูนย์ศิลปาชีพ สีบัวทอง จ.อ่างทอง ซึ่งให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยที่มีมาแต่โบราณที่ยังคงดำรงไว้สู่บรรพชนรุ่นลูกหลาน โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของคนไทยสามารถส่งต่อตกทอดเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว อาทิ การทำหัวโขนจากกระดาษข่อย งานปั้นเครื่องปั้นดินเผา และงานเซรามิก ที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้วิธีการทอผ้าแบบโบราณ และการปักผ้าไหม เพื่อนำไปประกอบเป็นชุดโขน ที่จัดแสดงโขนพระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อเร็วๆ นี้
?เวิร์คช็อปที่เป็นที่ชื่นชมของครูอาจารย์อย่างมากคือ กิจกรรมถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 Interactive Board Game จากวิทยากร อาจารย์ อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย พร้อมการฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ในหัวข้อ “ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่และการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสำหรับองค์กรต่อไป
?นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับวิถีชีวิตของเรา เป็นการดำรงชีวิตในความพอดี มีแนวทางการพัฒนาที่เน้นความสมดุล ความพอประมาณ มีเหตุผล การที่ครูอาจารย์ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ และลงมือทำกิจกรรมกับโครงการในพระราชดำริต่างๆ ช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ความรู้และนวัตกรรมที่เอื้อต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา ทิพยประกันภัยเราพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศ ให้มีความสามารถดูแลตนเอง ดูแลสังคม และมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์ สร้างความเจริญอย่างยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศชาติ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “การกำหนดทิศทางการพัฒนาบุคลากร สังคม และประเทศ บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) จะเป็นจุดเริ่มต้นในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลในระยะยาว อีกทั้งการสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อให้เป็น Soft Power พลังแห่งการสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งให้ประเทศไทยสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายในสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง ช่วยให้บรรลุเป้าหมายระยะ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตามกรอบระยะเวลาที่คาดหวังไว้ได้ ”
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม องค์การมหาชน กล่าวเสริมว่า “ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ต้องมาจากคุณธรรมที่สามารถวัดและจับต้องได้ คุณธรรม คุณทำได้ เราทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมของสังคมไทย และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากตัวเรา ในบริบทของการมีความพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และ กตัญญู เพื่อประโยชน์ของเราต่อเนื่องไปถึงคนรอบข้าง องค์กร สังคม จนเกิดเป็นความยั่งยืนของประเทศชาติ”
ข่าวเด่น