รัฐบาลสหราชอาณาจักรโดยสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือด้านบริการทางการเงิน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นการต่ออายุจากบันทึกความเข้าใจฉบับก่อนหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals - SDGs)
ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับก่อนหน้า รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้การสนับสนุน ธปท. ในหลายด้าน โดยครอบคลุมการยกระดับมาตรฐานการบัญชี การส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน การสนับสนุนระบบการเงินให้เพิ่มศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมการเงินในประเทศไทย
สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่นี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรและ ธปท.จะยกระดับความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการยกระดับการกำกับดูแล และการส่งเสริมนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของภาคการเงินไทย
ความร่วมมือนี้จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ การศึกษาวิจัย รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการเงินดิจิทัลและการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ASEAN Economic Reform Programme จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร และ UK’s Partnering for Accelerated Climate Transitions Programme
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ธปท. ยินดีอย่างยิ่งที่จะสานต่อความร่วมมือด้านบริการทางการเงินกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อส่งเสริมการใช้นวัตกรรมทางการเงินในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน และสนับสนุนให้ภาคการเงินนำความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจไปสู่การประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้ประสบการณ์และมุมมองของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ได้วางเป้าหมายสำหรับภาคการเงินไว้คล้ายคลึงกับไทย”
นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้กล่าวในโอกาสการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ว่า “มุมมองด้านการเงินของสหราชอาณาจักรในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านบริการทางการเงินของโลก คือ การเงินไม่ได้เป็นเพียงกุญแจในการดำเนินธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงและความยั่งยืนของโลกด้วย สหราชอาณาจักรมีความภูมิใจและยินดีที่จะสานต่อความร่วมมือด้านการบริการทางการเงินกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความก้าวหน้าทางการเงินที่ล้ำสมัย เช่น การเงินเพื่อความยั่งยืนและการเงินดิจิทัล”
ข่าวเด่น