แบงก์-นอนแบงก์
บทบาทของธนาคารกลางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


 
ในงานเสวนา BOT-BIS conference “Central Banking Amidst Shifting Ground” Session III: The Myths and Realities of the Roles of Central Banks in Combating Climate Change เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ The Myths and Realities of the Roles of Central Banks in Combating Climate Change มีสาระสำคัญ ดังนี้

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น และจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ ทั้งการรักษาอุณหภูมิโลก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero emission) รวมทั้งการจัดการความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (transition risk) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน จำเป็นต้องเข้าใจและเตรียมรับมือกับผลกระทบของ climate change รวมถึงเพิ่มบทบาทเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Network for Greening the Financial System (NGFS) ที่พบว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้เร็ว จะช่วยให้เกิดการปรับตัวได้อย่างราบรื่นและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า (orderly transition)

 
สำหรับการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ อาจครอบคลุมทั้ง (1) นโยบายการเงินเพื่อดูแลผลกระทบของ climate change ต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และ (2) นโยบายดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและระบบการเงิน (เพราะภาคการเงินเองก็มีความเสี่ยงจากลูกหนี้ที่จะได้รับผลกระทบจาก climate change เช่นกัน) เช่น การกำหนดแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐาน การวิเคราะห์สถานการณ์และทดสอบภาวะวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ (climate scenario analysis and stress testing) ของภาคการเงิน รวมทั้งการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งสถานะปัจจุบันและแผนการปรับตัวให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (transition plan)
หากพิจารณาผลกระทบต่อกลุ่มประเทศ พบว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก physical risk มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงยังมีสัดส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงกว่า 

โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นความสำคัญของการจัดสรรเงินทุนให้กิจกรรมที่อยู่ระหว่างปรับตัว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ มากกว่ากิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว เช่น พลังงานหมุนเวียน และรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเน้นถึงการให้ความช่วยเหลือเรื่องการยกระดับความรู้ โดยเฉพาะแก่ SMEs ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยในส่วนนี้ ธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการจัดสรรเงินทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมมากขึ้น ผ่านการประสานความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks) รวมถึงกองทุนสถาบัน (institutional fund) เพื่อดึงดูดเงินทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ธ.ค. 2565 เวลา : 20:59:11
16-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 16, 2025, 12:51 pm