สุขภาพ
"มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง" ภัยร้ายที่ผู้หญิงทุกวัยไม่ควรละเลย แพทย์เผยสัญญาณเตือน-แนวทางป้องกัน


ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้หญิง นอกจากจะต้องหาเวลาดูแลใส่ใจตนเองตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการดูแลสุขภาพภายในให้แข็งแรงเพื่อการใช้ชีวิตได้อย่างสดใสมั่นใจ แต่ถึงจะดูแลตัวเองดีอย่างไร อีกหนึ่งภัยเงียบที่อันตรายและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยจำนวนมาก ก็คือกลุ่มมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง ที่จริง ๆ แล้ว การตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้เราจึงมาพูดคุยกับ พญ. พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต ที่จะมาช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง ตลอดจนปัจจัยเสี่ยง และแนวทางป้องกันมะเร็งเหล่านี้


มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงมีอะไรบ้าง แล้วคนไทยเป็นกันเยอะไหม?

มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงที่พบได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก และมะเร็งเยื้อบุโพรงมดลูก "หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่ผู้หญิงไทยเป็นมากที่สุดอันดับสอง รองจากมะเร็งเต้านม ส่วนมะเร็งมดลูก อยู่ที่อันดับ 6 และมะเร็งรังไข่อยู่ที่อันดับ 7 ของมะเร็งที่ผู้หญิงไทยเป็นมากที่สุด" พญ. พรรณลดา กล่าว โดยทุก ๆ วันมีผู้หญิงไทยจำนวนมากตรวจพบหรือเสียชีวิตจากมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์เหล่านี้ แต่การตรวจคัดกรอง และการป้องกันที่ดีมาก ๆ อย่างเช่น วัคซีน HPV กลับไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง อาจเป็นเพราะความเขินอาย รู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หรือมองว่าถ้าไม่มีอาการอะไรร้ายแรง ไม่มีความเสี่ยง ทำไมถึงต้องไปตรวจคัดกรองด้วย

แพทย์เผย “ปัจจัยเสี่ยง” และ “แนวทางการรักษา” ในปัจจุบันของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง
 

 
พญ.พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี พูดถึงสาเหตุของการเกิดกลุ่มโรคมะเร็งในผู้หญิงว่า "ต้องอธิบายก่อนว่าเพศหญิงมีระบบอวัยวะสืบพันธุ์ที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่าผู้ชายมาก แล้วแต่ละอวัยวะไม่ว่าจะเป็นมดลูก ปากมดลูก หรือรังไข่ ก็จะมีปัจจัยความเสี่ยงแตกต่างกัน” มะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุส่วนใหญ่จากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มักติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย โอกาสติดเชื้อ HPV ก็จะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การสูบบุหรี่หรือการมีลูกหลายคนก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยง ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ จะคล้ายกับมะเร็งส่วนใหญ่ คือ การมีอายุอยู่ในช่วง 40 – 50 ขึ้นไปนั่นเอง ส่วนถ้าพูดถึงมะเร็งรังไข่ สาเหตุจะยังไม่แน่ชัด โดยอาจเป็นเรื่องของการใช้ยากระตุ้นการตกไข่ หรืออาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยครอบครัวที่มีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น เป็นต้น ส่วนมะเร็งที่มดลูกอย่าง มะเร็งเยื้อบุโพรงมดลูก คนก็เป็นกันมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน กลุ่มเสี่ยงคือ คนที่ไม่เคยมีลูก มีประจำเดือนไว หรือประจำเดือนหมดช้า เพราะหมายความว่าช่วงที่มีฮอร์โมนก็จะนานขึ้น อีกกลุ่มที่เสี่ยงคือผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยโรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะมีอัตราการเป็นภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้เยอะกว่าคนที่ผอม

“สำหรับวิธีรักษาเมื่อตรวจพบมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ก็จะขึ้นอยู่กับระยะและชนิดของมะเร็ง โดยแนวทางการรักษาจะมีอยู่ 4 แนวทาง ได้แก่ การผ่าตัด หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ก็สามารถผ่าตัดออกได้ อาจเป็นการตัดเฉพาะปากมดลูกหรือตัดมดลูก ถ้าเป็นมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ก็แนะนำการผ่าตัดเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะและชนิดของมะเร็ง อาจพิจารณาการใช้รังสีรักษา (การฉายแสง) หรือใช้ยาเคมีบำบัด ควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ มะเร็งบางชนิดจะมีการใช้ยารักษามุ่งเป้า โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและดุลยพินิจของแพทย์ด้วย” พญ. พรรณลดา อธิบาย

สูตินรีแพทย์ชี้ “อย่าละเลยการตรวจคัดกรอง-วัคซีน HPV ปัจจุบันป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90%”

“สำหรับการป้องกันมะเร็งในเพศหญิง เนื่องจากอวัยวะของระบบสืบพันธุ์เพศหญิงอยู่ข้างในตัวเรา จึงสังเกตเห็นความผิดปกติได้ด้วยตนเองค่อนข้างยาก การตรวจคัดกรองจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพิ่มเติมจากการดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ” พญ. พรรณลดา เน้นย้ำ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในคนโสดสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป คนที่แต่งงานแล้วหรือเคยมีเพศสัมพันธ์ สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี ในส่วนของการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่มีวิธีการที่ชี้ชัดในการคัดกรอง แต่การอัลตราซาวน์ก็สามารถช่วยคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้นได้ทั้งมดลูกและรังไข่ อีกหนึ่งวิธีที่ได้ผลดีมากถึง 90 % สำหรับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกคือ การฉีดวัคซีน HPV “ปัจจุบันวัคซีนมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ และครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสได้มากถึง 9 สายพันธุ์ สำหรับคนที่เคยฉีดแค่ 2 หรือ 4 สายพันธุ์แบบครบโดสมาก่อนหน้านี้ สามารถฉีดตัวที่ป้องกัน 9 สายพันธุ์ได้ แต่ควรห่างจากการฉีดรอบก่อนอย่างน้อย 1 ปี” พญ. พรรณลดา กล่าวเสริม

สำหรับการรักษามะเร็งอวัยวะเพศหญิงของศูนย์สูตินรีเวชโรงพยาบาลวิมุตมุ่งเน้นการตรวจสุขภาพสำหรับผู้หญิงแบบองค์รวม นำเสนอโปรแกรมตรวจ Thin Prep และ HPV โปรแกรมตรวจคัดกรองอาการปวดท้องช่วงมีประจำเดือน โปรแกรมตรวจภาวะหมดประจำเดือนสำหรับผู้หญิง 45 ปีขึ้นไป รวมถึงโปรแกรมวัคซีน HPV (วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก) เพื่อให้ครอบคลุมทุกความวิตกกังวล และช่วยวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคมะเร็งได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้ผู้หญิงมีสุขภาพดี แข็งแรงสมบูรณ์จากภายใน เพราะ “สำหรับโรคมะเร็งแล้ว การตรวจเจอความผิดปกติตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง หรือระยะแรกๆ อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้” พญ. พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3 รพ.วิมุต โทร. 02-079-0066 ตั้งแต่เวลา 8.00-20.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT Application คลิก https://bit.ly/372qexX

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ธ.ค. 2565 เวลา : 22:18:23
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 3:36 am