· ในช่วงโควิด-19 การค้าผ่านแดนเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยระบายสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนเนื่องจากเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือติดขัดจากการปิดเมือง ซึ่งการค้าผ่านแดนนอกจากจะเป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าแล้ว ยังเป็นเส้นทางใหม่ในการส่งสินค้าเข้าสู่ภาคใต้และภาคตะวันตกของจีนที่ยังมีศักยภาพในการบริโภค เป็นโอกาสขยายตลาดของสินค้าไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารฮาลาล ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป สินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก เป็นต้น
· อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก ในขณะที่เศรษฐกิจจีนที่ก็โตช้าลงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด จากปัจจัยกดดันภายในประเทศทั้งนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่แม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น รวมถึงประเด็นภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปจีนในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนทั้งปี 2565 ในรูปเงินบาทคาดหดตัว 25% ด้วยฐานที่สูงและปัจจัยเฉพาะในบางสินค้าทำให้มีมูลค่าส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 1.45 แสนล้านบาท
ท่ามกลางการส่งออกของไทยไปยังจีนในภาพรวม 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทเติบโตเชื่องช้าที่ 2.8% ขณะที่การค้าผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเวลาเดียวกันหดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้
· การขนส่งผ่านแดนทางบกไปจีนเป็นทางเลือกช่วยกระจายสินค้าที่ได้รับความนิยมมากขึ้นควบคู่ไปกับเส้นทางขนส่งทางทะเลที่ยังคงเป็นช่องทางหลักในการส่งสินค้าไทยไปจีน ในช่วงโควิด-19 ระบาดช่องทางการขนส่งผ่านแดนได้รับความนิยมอย่างชัดเจนจนโดยเป็นตัวช่วยสำคัญในการระบายสินค้าเข้าสู่จีนระหว่างการปิดเมืองท่าฝั่งตะวันออกของจีนที่เป็นช่องทางการส่งออกหลักของสินค้าไทยและช่วยบรรเทาปัญหาตู้ขนส่งสินค้าทางเรือขาดแคลนอย่างหนัก นั่นทำให้การขนส่งผ่านแดนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)
· การขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมีจุดแข็งที่มีช่องทางการขนส่งหลากหลายและรวดเร็ว โดยรวมแล้วมี 4 เส้นทาง สามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงปลายทางประเทศจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน ซึ่งเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักมากขึ้นอีกจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงหรือสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 เชื่อม จ.บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2567 โดยน่าจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวร่นระยะเวลาขนส่ง และคาดว่าจะมีการส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทในปีแรกจากปัจจุบันแทบไม่ได้ใช้เส้นทางนี้ใช้ส่งสินค้าไปจีน ขณะที่เส้นทางขนส่งไปจีนในปัจจุบันมี 4 เส้นทางหลัก ประกอบด้วยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว เชื่อมจากสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 จ. หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นเส้นทางที่เปิดมิติใหม่แห่งการขนส่งทางบกนำสินค้าไทยไปจีนด้วยเวลาเพียง 15 ชั่วโมงเท่านั้น มีการใช้งานมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าที่ต้องแข่งกับเวลา จึงเป็นช่องทางที่ช่วยเสริมศักยภาพการขนส่งจากช่องทางเดิมที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมตรงสู่ตลาดมณฑลหยุนหนานผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว เส้นทางขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต และการขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 ผ่าน จ.นครพนม-แขวงคำม่วน
· กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า ตามนโยบายกระจายความเติบโตอย่างทั่วถึงของทางการจีนที่จะผลักดันการบริโภคในแต่ละพื้นที่ โดยความน่าสนใจอยู่ที่การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้ในเวลานี้ยังเติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม จะเห็นได้จากในการส่งออกผ่านแดนในช่วงมกราคม-ตุลาคมปี 2565 ที่ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 1,569 ล้านบาท ในเบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2565 น่าจะมีมูลค่าส่งออกไทยผ่านเส้นทางนี้แตะ 2,000 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าจากจีนมีมูลค่าถึง 10,286 ล้านบาท ทำให้รวมแล้วช่องทางนี้มีสัดส่วนเป็น 5.1% ของการค้ารวมผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน โดยสินค้าที่น่าจับตาในการทำตลาดจีนตอนใต้เป็นสินค้าที่เน้นตอบโจทย์การบริโภคโดยตรง ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตาสามารถเชื่อมโยงกับการผลิตของมณฑลจีนตอนในได้อีกทางหนึ่ง
· การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยจีนตะวันตกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่น่าสนใจด้วยขนาดเศรษฐกิจรวมแล้วคิดเป็น 1 ใน 5 ของ GDP จีน อีกทั้งรายได้ของแต่ละมณฑลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) เติบโตไม่ต่ำกว่า 35% สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั้งประเทศจีน สะท้อนโอกาสให้สินค้าไทยเข้าทำตลาดได้โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทยที่ปัจจุบันก็ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วและยังเติบโตอย่างอาหารแปรรูป ผัก ถั่ว ผลไม้สด อาหารฮาลาล สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตูอันเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แบรนด์ยุโรป คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งได้ทั่วจีน เชื่อมการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปได้ ทั้งนี้ มณฑลฝั่งตะวันตกประกอบด้วยฉงชิ่ง มองโกเลียใน ส่านซี เสฉวน หนิงเซี้ย ซินเจียง หยุนหนาน ทิเบต ชิงไห่ กุ้ยโจว กว่างซี กานซู
อย่างไรก็ดี ด้วยภาพเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี 2565 แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท ในระยะต่อไปคงต้องจับตา แนวทางการผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก ประกอบกับแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนไทยทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเพื่อการบริโภคที่มีสัดส่วนถึงเกือบ 60% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน และสินค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าแตกต่างจากสินค้าจีนจึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่สินค้าไทยยังทำตลาดได้ต่อเนื่อง อาทิ อาหารแปรรูป ผลไม้สด ขนมขบเคี้ยว เครื่องสำอาง สมุนไพรไทย สินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป อาหารฮาลาลที่ยังมีโอกาสทำตลาดชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่อย่างคับคั่งในจีนตะวันตก รวมทั้งสินค้าขั้นกลางอีก 40% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่สำคัญของไทยอย่างยางพารา เม็ดพลาสติก สินค้าเหล่านี้ล้วนมีโอกาสส่งไปสนับสนุนการผลิตในพื้นที่อุตสาหกรรมตอนกลางของจีนที่กำลังเติบโตต่อไปได้อีก
ข่าวเด่น