เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "ลืมตาอ้าปาก" แก้อาการโตช้าของรายได้ภาคเกษตรด้วย AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์


 
“…การพัฒนาที่เหมาะกับประเทศไทยเรา ก็คือจะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้าเพื่อยกระดับฐานะของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศมีความเข้มแข็งมั่นคงขึ้นด้วย…” พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2541
 
 
รายได้ของครัวเรือนเกษตรในภาคเกษตรกำลังเติบโตแบบ “อ่อนแรงลง” 
 
ครัวเรือนเกษตรพึ่งพารายได้มาจากทั้งการทำการเกษตรและการทำงานนอกภาคเกษตร โดยในช่วงปี 1990 – 2001 พบว่ารายได้จากภาคเกษตรเติบโตในระดับที่สูงถึง 7.0% ต่อปี แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2001 – 2010 ระดับการเติบโตปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.9% ต่อปี และลดลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 2.9% ต่อปี ในช่วงปี 2010 – 2020 สวนทางกับการเติบโตของรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งรายได้ที่เติบโตช้าลงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเนื้อที่ทำการเกษตรของไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าสู่แรงงานสูงอายุ รวมไปถึงผลผลิตต่อไร่และราคาผลผลิตที่เกษตรกรได้รับที่อยู่ในระดับทรงตัว 

รายได้ภาคเกษตรที่เติบโตลดลง เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรในระยะข้างหน้า
 
อุตสาหกรรมเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการปรับการผลิตให้มีความยั่งยืน โดยความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรต้นน้ำ คือหัวใจสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมเกษตรไทยจะสามารถปรับตัวได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี รายได้ภาคเกษตรที่เติบโตแบบ “อ่อนแรงลง” กำลังฉุดรั้งความสามารถในการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรเนื่องจากครัวเรือนที่ยังคงมีปัญหาหนี้สิน จะขาดแรงจูงใจและศักยภาพในการลงทุนเพื่อปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

3 แนวทางสำคัญในการเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรให้ครัวเรือนเกษตรไทย
 
การเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรให้ครัวเรือนเกษตรไทย สามารถทำได้ผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ดังต่อไปนี้ 1) การเพิ่มปริมาณผลผลิต ผ่านการยกระดับผลผลิตต่อไร่ 2) การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง และ 3) การยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรได้รับ 

ประยุกต์ใช้ AgriTech เพื่อเพิ่มผลผลิตและราคาที่เกษตรกรได้รับ
 
AgriTech หรือเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ กำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์ม ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการตลาด โดย SCB EIC พบว่า ตัวอย่าง AgriTech ที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการช่วยยกระดับผลผลิตและราคาที่เกษตรกรได้รับในไทย ประกอบด้วย การใช้โดรนทำการเกษตร (Drone farming) การส่งเสริมการเกษตรผ่านระบบดิจิทัล (Digital agricultural extension) แพลตฟอร์มเกษตรดิจิทัล (Digital agriculture platform) และเทคโนโลยีการเงินสำหรับเกษตร (Agri-Fintech)

ปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูง ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ 
 
ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ผักและผลไม้ กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพและการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายย่อยยังไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูงมากนัก เนื่องจากยังมีขีดจำกัดในการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพสูงตามที่ตลาดต้องการ โดยกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ ซึ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่งของผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่หนึ่งๆ จะสามารถช่วยให้เกษตรกรและผู้แปรรูปสินค้าเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูงได้ ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล และกลไกการทำงานร่วมกัน (Collective actions) ซึ่ง SCB EIC พบว่า แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูงในหลายประเทศ

ศักยภาพการเพิ่มรายได้ของ AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ 
 
SCB EIC พบว่า AgriTech และการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ มีศักยภาพที่จะช่วยเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรราว 9.4 แสนล้านบาท ภายในปี 2030 โดยกว่า 7.4 แสนล้านบาท เป็นผลจากการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูง ในขณะที่การเพิ่มปริมาณผลผลิตจะมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้เพียง 1.9 แสนล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มปริมาณผลผลิต
จะทำได้อย่างจำกัด ตามความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรในปี 2030 ในขณะที่การเพิ่มราคาจะมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรราว 0.2 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อนำศักยภาพในการเพิ่มรายได้มาหารเฉลี่ยต่อครัวเรือน จะพบว่า ภายในปี 2030 รายได้ครัวเรือนเกษตรจากภาคเกษตรจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 67.2% เมื่อเทียบกับปี 2020

การใช้ AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ให้ประสบความสำเร็จ 
 
การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ AgriTech อย่างแพร่หลายในไทย ถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก ทั้งในระดับของเกษตรกรและผู้ให้บริการ AgriTech โดยจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดการใช้ AgriTech อย่างแพร่หลาย จะต้องมีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการด้าน AgriTech แก่เกษตรกร แทนการให้เกษตรกรครอบครองเทคโนโลยีเอง 2) การใช้บริการ AgriTech จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรอย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ให้บริการ AgriTech จะต้องมีตัวชี้วัด ที่ทำให้เกษตรกรเห็นว่า การใช้บริการ AgriTech สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้จริง 3) จะต้องมีคนกลางในพื้นที่ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรคอยช่วยสนับสนุนการใช้ AgriTech แก่เกษตรกร สำหรับการพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงให้ประสบความสำเร็จนั้น SCB EIC พบว่า คลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ มีคุณลักษณะร่วมกันหลายประการ เช่น สินค้าเกษตรมูลค่าสูงส่วนใหญ่จะเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยมีความเป็นผู้ประกอบการ มีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรอยากเข้าร่วมในคลัสเตอร์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการพัฒนาคลัสเตอร์ เป็นต้น 
 
ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคมจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับรายได้ภาคเกษตร 
 
ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างธุรกิจที่ให้บริการ AgriTech แก่เกษตรกร รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการนำเกษตรกรไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูงในตลาดโลก ในขณะที่ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการหันมาใช้ AgriTech เข้าร่วมในคลัสเตอร์และปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนไปปลูกพืชมูลค่าสูง ส่วนภาคประชาสังคม จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เกษตรกรเกิดความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของ AgriTech และการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันจนสามารถยกระดับรายได้จากภาคเกษตรได้ ก็จะช่วยยกระดับรายได้ครัวเรือนในชนบท ช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับสังคมไทย และช่วยให้อุตสาหกรรมเกษตรไทยสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน 

รายได้ของครัวเรือนเกษตรในภาคเกษตรกำลังเติบโตแบบ “อ่อนแรงลง” 

รายได้ของครัวเรือนเกษตรในภาคเกษตร (Farm income) เติบโตช้าลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สวนทางกับการเติบโตของรายได้นอกภาคเกษตร (Non-farm income) ครัวเรือนเกษตรพึ่งพารายได้มาจากทั้งการทำงานในภาคเกษตรและการทำงานนอกภาคเกษตร โดยในช่วงปี 1990 – 2001 รายได้จากภาคเกษตรเติบโตในระดับที่สูงถึง 7.0% ต่อปี แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2001 – 2010 ระดับการเติบโตมีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.9% ต่อปี และลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.9% ต่อปี ในช่วงปี 2010 – 2020 สวนทางกับการเติบโตของรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน (รูปที่ 1) ซึ่งอัตราการเติบโตที่สวนทางกันดังกล่าว ส่งผลให้ปี 2019 เป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ ที่ครัวเรือนเกษตรมีรายได้จากภาคเกษตรต่ำกว่ารายได้จากนอกภาคเกษตร โดยในปี 2020 ระดับรายได้จากภาคเกษตรของครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ราว 187,000 บาทต่อปีหรือเฉลี่ยราวเดือนละ 6,100 บาทต่อคน (1 ครัวเรือนเกษตรมีแรงงาน 2.57 คน) ในขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรอยู่ที่ราว 210,000 บาทต่อปีหรือเฉลี่ยราวเดือนละ 6,800 บาทต่อคน 

รูปที่ 1 : รายได้ของครัวเรือนเกษตรในภาคเกษตรมีการเติบโตช้าลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สวนทางกับการเติบโตของรายได้จากนอกภาคเกษตร  
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
 
การเติบโตของรายได้ในภาคเกษตรที่ “อ่อนแรงลง” สะท้อนถึงศักยภาพของทรัพยากรการผลิตของภาคเกษตรที่ปรับตัวลดลง ทั้งจากความเหมาะสมและความสามารถในการขยายพื้นที่เพาะปลูก กำลังแรงงาน และผลิตภาพการผลิต โดย SCB EIC พบว่า การขยายเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 โดยหลังจากนั้นเป็นต้นมา เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรก็ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรผ่านการขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงทศวรรษ 2000 และ 2010 ไม่สามารถทำได้เหมือนอย่างในช่วงทศวรรษ 1990 นอกจากนี้ เกษตรกรไทยจำนวนมากเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ สะท้อนได้จากสัดส่วนหัวหน้าครัวเรือนเกษตรที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 18.3% ในปี 2004 มาอยู่ที่ 27.3% ในปี 2020 สวนทางกับสัดส่วนหัวหน้าครัวเรือนเกษตรที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ปรับตัวลดลงจาก 14.6% มาอยู่ที่ 3.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาผลิตภาพการผลิตของสินค้าเกษตร ก็จะพบว่านับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 ผลผลิตต่อไร่ของข้าว มันสำปะหลังและอ้อย อยู่ในระดับที่ทรงตัวมาอย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากในช่วงก่อนหน้าที่ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (รูปที่ 2)
 

นอกจากนั้น ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มทรงตัวในช่วงทศวรรษ 2010 ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รายได้จากภาคเกษตรเติบโตช้าลง โดยจากข้อมูล พบว่าในช่วงทศวรรษ 2010 ราคาข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย มีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว แตกต่างจากในช่วงก่อนหน้าที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น (รูปที่ 3) โดยราคาสินค้าเกษตรที่ค่อนข้างทรงตัว เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าความต้องการบริโภค กดดันให้ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำ  

รูปที่ 2 : การเติบโตของรายได้ในภาคเกษตรที่ “อ่อนแรงลง” สะท้อนถึงศักยภาพของทรัพยากรการผลิตของภาคเกษตรที่ปรับตัวลดลง ทั้งจากที่ดิน กำลังแรงงานและผลิตภาพการผลิต  
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและ FAO

รูปที่ 3 : ในช่วงทศวรรษ 2010 ราคาข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย มีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

รายได้ในภาคเกษตรที่เติบโตช้า เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรในระยะข้างหน้า 
 
 
อุตสาหกรรมเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายสำคัญหลายด้าน ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและนโยบายด้านการเกษตรของประเทศคู้ค้า/คู่แข่ง ในช่วงที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น นโยบายด้านการเกษตรของประเทศต่าง ๆ ก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมเกษตรไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดโลกค่อนข้างมาก ต้องเผชิญกับความผันผวนมากขึ้น ทั้งในแง่ของราคาและความต้องการบริโภค 2) ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่รุนแรงขึ้น เช่น สงครามรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate chage) ซึ่งจะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น และทำให้ผลประกอบการของเกษตรกรและผู้แปรรูปสินค้าเกษตรมีแน้วโน้มผันผวนตามไปด้วย จากทั้งต้นทุนการผลิตและปริมาณผลผลิตหรือวัตถุดิบที่มีความไม่แน่นอนสูง  นอกจากนี้ ผู้บริโภคก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากราคาอาหารที่อาจปรับตัวสูงขึ้นและอาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค 4) นโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low carbon economy) เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน เป็นต้น จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และ 5) กระแสความยั่งยืน (Sustainability) เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของโลก ที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตร โดยในอนาคตผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนและดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

ความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรต้นน้ำ คือ หนึ่งในปัจจัยชี้วัดว่า อุตสาหกรรมเกษตรไทยจะสามารถปรับตัวเพื่ออยู่รอดและเติบโตไปกับโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ความท้าทายหลักๆ ที่อุตสาหกรรมเกษตรกำลังเผชิญ ล้วนต้องอาศัยความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูกพืชของเกษตรกร ซึ่งหากเกษตรกรปรับตัวไม่ได้ เช่น ไม่สามารถลงทุนในแหล่งน้ำหรือปรับเปลี่ยนพันธุ์พืช ผลผลิตสินค้าเกษตรก็จะปรับตัวลดลงอย่างมาก เมื่อเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่รุนแรง หรือการรับมือต่อกระแสความยั่งยืน ก็ต้องอาศัยการปรับตัวของเกษตรกร เนื่องจากกระบวนการเพาะปลูกพืช คือ กิจกรรมการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกษตร ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของ Our World in Data  ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเพาะปลูกข้าวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในห่วงโซ่มูลค่าข้าวโลก ซึ่งหากเกษตรกร
ไม่สามารถปรับกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานความยั่งยืน ก็มีโอกาสสูงที่สินค้าเกษตรไทยจะถูกกีดกันออกจากการค้าในตลาดโลกในระยะต่อไป
 
 
รายได้เกษตรที่อยู่ในระดับต่ำและเติบโตช้าลง กำลังฉุดรั้งความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรไทย รายได้ภาคเกษตรที่เติบโตช้าลง ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตร โดยเฉพาะครัวเรือนที่พึ่งพารายได้จากภาคเกษตรในระดับสูง มีภาระหนี้สินที่สูงขึ้น จนเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพื่อปรับตัว กล่าวคือ ครัวเรือนเกษตรไม่มีแรงจูงใจและไม่สามารถที่จะลงทุนเพื่อการปรับตัวได้ เนื่องจากมีรายได้ ไม่พอรายจ่าย และมีภาระหนี้สูง จนติดอยู่ในวังวนของกับดักหนี้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราจะคาดหวังให้เกษตรกรปรับกระบวนการผลิตให้มีความยั่งยืนและมีภูมิค้มกันต่อภาวะโลกร้อนได้อย่างไร หากครัวเรือนเกษตรกรยังคงมีปัญหาเรื่องปากท้องอยู่

3 แนวทางสำคัญในการเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรให้ครัวเรือนเกษตรไทย
 
 
การเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรให้ครัวเรือนเกษตรไทย สามารถทำได้ผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 
 
 
1) การเพิ่มปริมาณผลผลิต ผ่านการยกระดับผลผลิตต่อไร่ ครัวเรือนเกษตรไทยยังมีโอกาสในการเพิ่มปริมาณผลผลิตได้โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติม เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยทุกชนิดยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่น 
 
จากข้อมูลของ Global Yield Gap Atlas พบว่าปริมาณศักยภาพผลผลิตต่อไร่  ของข้าวนาปีของไทยในปี 2018 (ข้อมูลล่าสุดที่มี) อยู่ที่ 880 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ผลผลิตต่อไร่ที่เกิดขึ้นจริงในปี 2021 อยู่ที่ราว 445 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพผลผลิตต่อไร่อยู่ถึง 49.4% หรือผลจากงานวิจัยในไทยที่ชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตต่อไร่ที่เกิดขึ้นจริงของ มันสำปะหลัง อ้อยและยางพารา อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพผลผลิตต่อไร่อยู่ถึง 53.3%, 51.7% และ 38.1% ตามลำดับ (รูปที่ 4) ซึ่งหากครัวเรือนเกษตรสามารถยกระดับผลผลิตต่อไร่ได้ ปริมาณผลผลิตก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นภายใต้พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม และจะส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี การเพิ่มปริมาณผลผลิต จะต้องทำในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดซึ่งจะทำใหราคาตกต่ำตามมา 

รูปที่ 4 : ผลผลิตต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยทุกชนิดยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างมาก
 
 
หมายเหตุ : *จากข้อมูลการประมาณการของ Global Yield Gap Atlas ในปี 2018, **จากผลการศึกษาอัตราปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมสำหรับมันสำปะหลังที่ปลูกในกลุ่มดินร่วนปนทราย : ชุดดินห้วยโป่ง โดย วัลลีย์ อมรพลและคณะ ในปี 2017, ***จากผลการศึกษาศักยภาพการให้ผลผลิตและความสามารถในการทนแล้งในอ้อย 15 สายพันธุ์ที่ได้รับน้ำแตกต่างกัน โดย จริยา นามวงษา และคณะ ในปี 2018, ****จากข้อมูลเป้าหมายผลผลิตต่อไร่ของยางพาราในปี 2036 (การยางแห่งประเทศไทย)
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, Global Yield Gap Atlas และงานวิจัยต่าง ๆ 
 
 
2) การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง SCB EIC พบว่า ครัวเรือนเกษตรไทยยังมีโอกาสในการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชเกษตรที่มีมูลค่าสูงได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ของไทยยังถูกใช้ไปกับการเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าต่ำ (รูปที่ 5) ตัวอย่างเช่น พื้นที่เกษตรของไทยกว่า 51.8% ถูกใช้ไปกับการเพาะปลูกข้าว ในขณะที่พื้นที่ปลูกผักและผลไม้อยู่ในระดับต่ำเพียง 5.1% โดยจากข้อมูล พบว่า มูลค่าผลผลิตต่อไร่ (ราคาที่เกษตรกรได้รับ คูณ ปริมาณผลผลิตต่อไร่) ของข้าวในปี 2021 อยู่ที่ราว 3,500 บาท ถึง 6,200 บาท ในขณะที่มูลค่าผลผลิตต่อไร่ของทุเรียน หอมแดง พริกไทย อยู่ที่ 162,308 บาท 72,011 บาท และ 70,607 บาทตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของดินในไทย เพื่อใช้ปลูกพืชมูลค่าสูง ก็จะพบว่า ไทยยังมีโอกาสขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชมูลค่าสูงได้อีกมาก ตัวอย่างเช่น กรมพัฒนาที่ดิน ประเมินว่าไทยมีพื้นที่เหมาะสมสูงสำหรับการปลูกทุเรียน 11.7 ล้านไร่ 
แต่ในปี 2021 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพียง 1.2 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูงในสัดส่วนที่เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่เพาะปลูกและความต้องการของตลาด จะช่วยยกระดับรายได้ภาคเกษตรให้สูงขึ้นได้

รูปที่ 5 : พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ของไทย ถูกใช้ไปกับการเพาะปลูกพืชมูลค่าต่ำ 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

3) การยกระดับราคาที่เกษตรกรได้รับ เกษตรกร (ผู้ขาย) เป็นผู้ผลิตและนำสินค้าเกษตรมาขายให้กับผู้แปรรูปสินค้าเกษตร (ผู้ซื้อ) ซึ่งหากในตลาดมีการแข่งขันสูง กล่าวคือ มีผู้ซื้อจำนวนมาก มาแย่งซื้อสินค้าจากเกษตรกร ก็จะทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับปรับตัวเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากตลาดมีการแข่งขันที่ต่ำ กล่าวคือ มีผู้ซื้อสินค้าจากเกษตรกรเพียงไม่กี่รายในพื้นที่และไม่มีการแข่งขันระหว่างกัน ก็จะทำให้เกษตรกรได้รับราคาสินค้าเกษตรในระดับที่ต่ำกว่าราคาที่ควรจะได้ในกรณีที่ตลาดมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การเพิ่มการแข่งขันในตลาด ด้วยการทำให้ผู้ซื้อสินค้าจากเกษตรกรมีจำนวนมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยให้เกษตรกรได้รับราคาที่สูงขึ้นได้ 

ประยุกต์ใช้ AgriTech เพื่อเพิ่มผลผลิตและราคาที่เกษตรกรได้รับ
 
 
AgriTech หรือเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ กำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์ม ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการตลาด ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีการนำ AgriTech เข้ามาช่วยในการทำการเกษตรอย่างแพร่หลาย เช่น การทำการเกษตรแบบแม่นยำ (Precision agriculture) ที่มีการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการจัดการการเพาะปลูกให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูก โดยความสำเร็จของการใช้ AgriTech ในประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้มีความพยายามนำ AgriTech มาช่วยยกระดับการทำการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนธุรกิจสตาร์ตอัป (Startup) ด้านการให้บริการเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการตลาด ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 53 รายในปี 2009 มาอยู่ที่ 713 รายในปี 2019 หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (รูปที่ 6)

รูปที่ 6 : จำนวนธุรกิจสตาร์ตอัป (Startup) ด้านการให้บริการเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ GSME
 
 
SCB EIC พบว่า ตัวอย่าง AgriTech ที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการช่วยยกระดับผลผลิตและราคาที่เกษตรกรได้รับในไทย มีดังต่อไปนี้ 
 
 
1) การใช้โดรนทำการเกษตร (Drone farming) โดรนที่ติดกับระบบเซ็นเซอร์และกล้องสามารถใช้เพื่อเก็บข้อมูลเกษตรด้านต่าง ๆ ในแปลงเพาะปลูกได้ เช่น ลักษณะพื้นที่เพาะปลูก ระดับความชื้น และอาการผิดปกติของพืช เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการจัดการฟาร์มได้ เช่น 
การเลือกช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม การใช้โดรนหว่านเมล็ดพันธุ์พืชให้สม่ำเสมอ ฉีดพ่นสารเคมีเฉพาะจุดที่พืชผิดปกติ หรือใส่ปุ๋ยให้สอดคล้องกับความต้องการของพืชในแต่ละจุด เป็นต้น โดยงานวิจัยในอินเดีย  พบว่าการใส่ปุ๋ยให้สอดคล้องกับความต้องการของข้าวและข้าวสาลี จะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ระหว่าง 4-8% ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดการใช้ปุ๋ยลงได้สูงถึง 15-35% เมื่อเทียบกับกรณีปกติ 
 
 
2) การส่งเสริมการเกษตรผ่านระบบดิจิทัล (Digital agricultural extension) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเก็บข้อมูลระยะไกล เช่น ดาวเทียม ที่สามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียดถึงระดับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น Machine learning และ Artificial Intellignece (AI) ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกร ซึ่งมีโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟน สามารถเข้าถึงข้อมูลเกษตรและคำแนะนำต่าง ๆ แบบเฉพาะเจาะจงต่อตัวเกษตรกรได้ ตัวอย่างเช่น โครงการ Precision agriculture for development มีบริการส่งคำแนะนำด้านการปลูกพืชที่เฉพาะเจาะจงให้แก่เกษตรกรแต่ละราย ผ่านข้อความเสียงในทุก ๆ สัปดาห์ นอกจากนั้น เกษตรกรยังสามารถเข้าถึงบริการสายด่วนการเกษตร ที่เจ้าหน้าส่งเสริมการเกษตรจะคอยตอบคำถามต่าง ๆ ของเกษตรกร โดยในปี 2022 มีเกษตรกรในอินเดียราว 2.3 ล้านราย เข้าใช้บริการดังกล่าวแล้ว ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่ใช้บริการดังกล่าว สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้โดยเฉลี่ย 4%  
 
 
3) แพลตฟอร์มเกษตรดิจิทัล (Digital agriculture platform) แพลต์ฟอร์มดิจิทัล สามารถช่วยเชื่อมโยงเกษตรกร เข้ากับผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรและผู้ซื้อสินค้าเกษตรที่กว้างขวางขึ้น จากแต่เดิมที่อาจจะเข้าถึงผู้ซื้อเพียงไม่กี่รายในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อขายสินค้าเกษตรในอินเดีย เปิดโอกาสให้เกษตรเข้าถึงผู้ซื้อจากหลากหลายพื้นที่ และสามารถเลือกขายสินค้าให้กับผู้ซื้อที่เสนอซื้อในราคาที่สูงที่สุด ทั้งนี้ผลการวิจัยพบว่า แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ช่วยให้ราคาข้าวเปลือก ถั่วและข้าวโพดที่เกษตรกรได้รับปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.1%, 3.6% และ 3.5% ตามลำดับ 
 
 
4) เทคโนโลยีการเงินสำหรับเกษตร (Agri-Fintech) มีแนวโน้มพัฒนามากขึ้นเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่น สตาร์ตอัป Koltiva ในอินโดนีเซีย เปิดให้บริการ KoltiPay ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital wallet) ที่เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น รับชำระค่าสินค้าและค่าปัจจัยการผลิตต่าง ๆ สมัครประกันภัยพืชผลทางการเกษตร สมัครสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะรู้ผลภายในทันที เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น เกษตรกรก็จะสามารถซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับงานศึกษาในสหรัฐฯ  ที่พบว่า เมื่อเกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ผลผลิตต่อไร่ก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 
 
 
ปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูง ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ 
 
ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ผักและผลไม้ กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพและการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร โดยงานศึกษาของ สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (IFPRI) พบว่า ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรในกลุ่มผักและผลไม้มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2050  (รูป 7) ตัวอย่างเช่น ความต้องการบริโภคกล้วยโลกในปี 2030 และปี 2050 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 50.7% และ 93.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการบริโภคในปี 2010 หรือความต้องการบริโภคผักโลกในปี 2030 และปี 2050 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.2% และ 92.5% ตามลำดับ สวนทางกับความต้องการบริโภคข้าวโลกที่มีแนวโน้มทรงตัว โดยคาดว่าจะปรับตัวขึ้นเพียง 11.8% และ 13.7% ในปี 2030 และ 2050 ตามลำดับ 
 
 
แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายย่อยยังไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูงมากนัก เนื่องจากยังมีขีดจำกัดในการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพสูงตามที่ตลาดต้องการ การนำสินค้าเกษตรมูลค่าสูงไปวางขายในห้างสรรพสินค้าหรือส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องจาก ห้างสรรพสินค้ามีการกำหนดมาตรฐานสินค้าในระดับสูงและมีระบบการตรวจสอบคุณภาพที่เข้มงวด ตัวอย่างเช่น การผลิตจะต้องได้การรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP) และสินค้าจะต้องมีความสดใหม่และไม่มีสารตกค้างต่าง ๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี เกษตรกรรายย่อย ยังมีข้อจำกัดในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ทั้งจากการขาดองค์ความรู้และข้อมูล การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนและปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ และการมีต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด 
 
 
รูปที่ 7 : ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ผักและผลไม้ กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพและการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (IFPRI)
 
 
การพัฒนาการเกษตรเชิงคลัสเตอร์ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยแนวทางนี้จะเน้นส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในทุกมิติ ระหว่างผู้ประกอบการ ภาครัฐ และสถาบันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกันในพื้นที่หนึ่ง ๆ รูปที่ 8 แสดงตัวอย่างกลไกการทำงานของกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ โดยภายในคลัสเตอร์ เกษตรกรจะมีการประสานงานกันผ่านกลุ่มเกษตรกรและมีการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ ผ่านข้อตกลงการค้าระหว่างกัน ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจะมีการประสานงานกันผ่านสมาคมผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการจะได้รับการอบรม เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิต นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการ ยังมีความเชื่อมโยงกับผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมสนับสนุน สถาบันการศึกษา ผ่านหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยพัฒนาคลัสเตอร์ รูปที่ 9 แสดงตัวอย่างคลัสเตอร์ไวน์ในแคลิฟอร์เนีย โดยภายในคลัสเตอร์ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่น จะได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูก เช่น อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น ในขณะที่ผู้ผลิตไวน์ จะได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไวน์ เช่น อุตสาหกรรมอุปกรณ์ในการผลิตไวน์ อุตสาหกรรมขวด และอุตสาหกรรมโฆษณา เป็นต้น นอกจากนั้น ผู้ผลิตไวน์ยังจะมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอาหาร เป็นต้น โดยทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตไวน์จะได้รับการสนับสนุนและมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐบาลในพื้นที่ด้วย 

รูปที่ 8 : กลไกการทำงานของกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์  
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC 
 
รูปที่ 9 : คลัสเตอร์ไวน์ในแคลิฟอร์เนีย 
 

 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Harvard Business School
 
กลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ จะสามารถช่วยให้เกษตรกรและผู้แปรรูปสินค้าเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูงได้ ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล และการทำงานร่วมกัน (Collective actions)  การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ จะต้องมีการจัดการกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและการบรรจุหีบห่อ  ซึ่งการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่งของผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งการกระจายตัวขององค์ความรู้และข้อมูล จะนำไปสู่การกระจายตัวของนวัตกรรมด้านการผลิตและการบริหารจัดการ ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการได้ ในขณะที่การทำงานร่วมกันผ่านกลุ่มและสมาคมต่าง ๆ เช่น การวิจัยด้านการตลาด การขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การซื้อปัจจัยการผลิต จะก่อให้เกิดประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่ได้ในต้นทุนที่ต่ำลง ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานร่วมกัน ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 
 
 
SCB EIC พบว่า แนวทางการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูงในหลายประเทศ โดยคลัสเตอร์มันฝรั่งในจีน เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ แนวทางการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ เช่น การพัฒนาคลัสเตอร์ผลไม้ในลาตินอเมริกา การพัฒนาคลัสเตอร์องุ่น
ในอินเดีย หรือการพัฒนาคลัสเตอร์มันฝรั่งในจีน เป็นต้น ในกรณีของจีน การพัฒนาคลัสเตอร์มันฝรั่งในพื้นที่อำเภอแอนดิ่ง (Anding county) ประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยให้เกษตรกรข้าวสาลีจำนวนมากหันมาปลูกมันฝรั่งซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า สะท้อนได้จากสัดส่วนรายได้จากมันฝรั่งของเกษตรกรในอำเภอแอนดิ่ง ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 23.4% 
 
ในปี 1997 มาอยู่ที่ 58.6% ในปี 2009 ในขณะที่รายได้สุทธิต่อเกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้น 165.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน  โดยการพัฒนาคลัสเตอร์มันฝรั่งในอำเภอแอนดิ่ง เริ่มต้นด้วยการพัฒนาคุณภาพดินและปรับปรุงระบบชลประทาน
 
 
ในพื้นที่ หลังจากนั้นจึงทำการคัดเลือกพืชที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ และทำการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเพาะปลูก อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกเกษตรกรยังไม่สนใจที่จะปรับเปลี่ยนมาปลูกมันฝรั่งมากนัก แต่หลังจากที่เห็นเกษตรกรรายอื่น ๆ ซึ่งได้รับการส่งเสริมให้ปลูกมันฝรั่งนำร่อง มีรายได้ที่ดีขึ้น เกษตรกรในพื้นที่ก็เริ่มหันมาปลูกมันฝรั่งเพิ่มขึ้นตาม จนทำให้อำเภอแอนดิ่งมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น จนขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงมันฝรั่งของจีน” 
 
 
ศักยภาพการเพิ่มรายได้ของ AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์
 
 
SCB EIC พบว่า AgriTech และการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ มีศักยภาพที่จะช่วยเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรราว 9.4 แสนล้านบาท ภายในปี 2030 หรือช่วยให้รายได้จากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 67.2% ต่อครัวเรือน เมื่อเทียบกับปี 2020  SCB EIC ทำการประเมินศักยภาพการช่วยเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรของ AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ ภายใต้สมมุติฐานสำคัญ ได้แก่ 1) ภายในปี 2030 มีการประยุกต์ใช้ AgriTech ในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรอย่างแพร่หลายในไทย จนทำให้ผลผลิตต่อไร่ของข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและยางพาราในปี 2030 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไปอยู่ในระดับ 80% ของศักยภาพผลผลิตต่อไร่ และทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.7%  จากราคาในกรณีที่ไม่มีการประยุกต์ใช้ AgriTech 2) มีการนำกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์มาปรับใช้จนช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับพื้นที่ที่เหลือจากการเพาะปลูกพืชหลักไปสู่พืชมูลค่าสูงได้ทั้งหมด โดยผลการประเมินพบว่า ศักยภาพการช่วยเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรจะอยู่ที่ราว 9.4 แสนล้านบาท (รูปที่ 10) โดยกว่า 78.2% หรือราว 7.4 แสนล้านบาท จะมาจากการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูง ในขณะที่การเพิ่มปริมาณผลผลิตจะมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้เพียง 1.9 แสนล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มปริมาณผลผลิตจะทำได้อย่างจำกัด ตามความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรในปี 2030 (ไม่รวมความต้องการบริโภคในภาคพลังงาน) ในขณะที่การเพิ่มราคาจะมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรราว 0.2 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อนำศักยภาพในการเพิ่มรายได้มาหารเฉลี่ยต่อครัวเรือน จะพบว่า รายได้ครัวเรือนเกษตรจากภาคเกษตรจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 67.2% จาก 187,081 บาทต่อครัวเรือนในปี 2020 มาอยู่ที่ 312,709 บาทต่อครัวเรือนในปี 2030 ทั้งนี้หากดูผลเป็นรายพืช จะพบว่า ข้าวเป็นพืชที่มีศักยภาพในการเพิ่มรายได้จากการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูงมากที่สุด เนื่องจากหากเกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของข้าวจนมาอยู่ที่ระดับ 80% ของผลผลิตศักยภาพได้ จำนวนพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ปลูกข้าวเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในปี 2030 จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นที่ปลูกในปัจจุบันค่อนข้างมาก ส่งผลให้ครัวเรือนผู้ปลูกข้าวมีโอกาสแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวบางส่วน ไปปลูกพืชมูลค่าสูงได้ค่อนข้างมาก (รูป 11)
 
รูปที่ 10 : AgriTech และการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ มีศักยภาพที่จะช่วยเพิ่มรายได้ภาคเกษตรราว 9.4 แสนล้านบาท ภายในปี 2030 หรือช่วยให้รายได้จากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 67.2% ต่อครัวเรือน เมื่อเทียบกับปี 2020
 
  
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ FAO-OECD, IFPRI, IRSG และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
 
การใช้ AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ให้ประสบความสำเร็จ 
การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ AgriTech อย่างแพร่หลายในไทย เป็นสิ่งที่มีความท้าทายอย่างมาก ทั้งในระดับของเกษตรกรและผู้ให้บริการ AgriTech  โดยในระดับเกษตรกร SCB EIC พบว่า มีอุปสรรคอย่างน้อย 2 ประการที่ทำให้เกษตรกรไทยยังไม่นิยมใช้ AgriTech มากนัก ประการแรก เกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก ทำให้ผลประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุนใช้ AgriTech ไม่คุ้มต่อการลงทุนเอง ประการที่สอง เกษตรกรจำนวนมากยังมีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้ AgriTech ในระดับต่ำ ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการ AgriTech ในไทยก็เผชิญกับอุปสรรคอย่างน้อย 2 ด้านในการขยายบริการให้กับเกษตรกร ด้านแรก คือ การทำการตลาดแบบออนไลน์ ยังไม่ได้ผลมากนัก โดยผู้ให้บริการ AgriTech ยังต้องทำการตลาดโดยการไปจัดกิจกรรมและพบปะกับเกษตรกรโดยตรง ซึ่งกลยุทธ์การตลาดแบบนี้มีต้นทุนที่สูง ทั้งเงินและเวลา ด้านที่สอง คือ เกษตรกรจำนวนมากยังไม่มีความไว้วางใจที่จะใช้บริการจากผู้ให้บริการ AgriTech
 
 
ประสบการณ์ในต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดการใช้ AgriTech อย่างแพร่หลาย จะมีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้ 1) จะต้องส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการ AgriTech แก่เกษตรกร แทนการให้เกษตรกรครอบครองเทคโนโลยีเอง แนวทางนี้จะช่วยให้ต้นทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากเป็นการแบ่งปันต้นทุนกับเกษตรกรรายอื่น ๆ โดยที่เกษตรกรไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด ตัวอย่างเช่น การใช้บริการจากผู้ให้บริการโดรนทางการเกษตร หรือการใช้บริการการจากผู้ให้บริการแพตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตร เป็นต้น 2) การใช้บริการ AgriTech จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรอย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ให้บริการ AgriTech จะต้องมีตัวชี้วัด ที่ทำให้เกษตรกรเห็นว่า การใช้บริการ AgriTech สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้จริง และสุดท้าย 3) จะต้องมีคนกลางในพื้นที่ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรคอยช่วยสนับสนุนการใช้ AgriTech 
แก่เกษตรกร โดยการมีคนกลางในพื้นที่จะช่วยให้เกษตรกรมีความไว้วางใจที่จะใช้บริการ AgriTech มากขึ้น นอกจากนั้น การมีคนกลางยังจะช่วยให้เกษตรกรที่ยังไม่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเข้าถึงบริการ AgriTech ได้ 

สำหรับ การพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงนั้น SCB EIC พบว่า คลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ มีคุณลักษณะร่วมกันหลายประการดังต่อไปนี้ 
 
• สินค้าเกษตรมูลค่าสูงส่วนใหญ่จะเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากตลาดส่งออกมีขนาดใหญ่กว่าตลาดในประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกมีแรงจูงใจในการร่วมมือกันมากกว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ 
 
• เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยมีความเป็นผู้ประกอบการ กล่าวคือ นอกจากมีทักษะในเรื่องการปลูกและแปรรูปแล้ว ยังมีทักษะในเรื่องการบริหารจัดการและการตลาดที่ดีอีกด้วย 
 
• ภาครัฐมีการลงทุนพัฒนาสายพันธุ์พืชให้ตรงกับความต้องการของตลาดและมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในคลัสเตอร์ เช่น ระบบชลประทาน เป็นต้น 
 
• หน่วยงานประสานงานการพัฒนาคลัสเตอร์เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและสถาบันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 
 
• สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง โครงการอบรมผู้นำธุรกิจเกษตรของธนาคารโลก เป็นตัวอย่างโครงการที่น่าจะช่วยยกประสิทธิภาพของสถาบันเกษตรกรได้
 
• มีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรอยากเข้าร่วมในคลัสเตอร์ ผ่านการออกแบบโครงสร้างสิ่งจูงใจที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกทำเกษตรมูลค่าสูงของเกษตรกรและพฤติกรรมการเลือกลงทุนของผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมทั้งมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดความไว้วางใจระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ในคลัสเตอร์ 
 
• องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคลัสเตอร์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบริบทและประสบการณ์ของท้องถิ่น

ความจริงแล้ว การส่งเสริมให้เกิดการใช้ AgriTech และการใช้กลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทยแต่อย่างใด โดยได้เริ่มมีแนวคิดดังกล่าวมาตั้งช่วงต้นทศวรรษ 2000 แล้ว ตัวอย่างของ AgriTech ที่มีการดำเนินการในไทย ก็เช่น “ListenField” “Ricult”  “FARMTO” และ “Gaorai” เป็นต้น ส่วนตัวอย่างการใช้กลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ในภาคเกษตรของไทยในปัจจุบัน เช่น การพัฒนาคลัสเตอร์ผลไม้และพืชสมุนไพรในพื้นที่ EEC เป็นต้น ซึ่งในช่วงที่ไทยกำลังเดินหน้าผลักดันการใช้ AgriTech และพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าเกษตรมูลค่าสูง การนำบทเรียนจากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทย จะช่วยเร่งให้การส่งเสริมการใช้ AgriTech และการพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงประสบความสำเร็จมากขึ้น 
 
นัยต่อภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาสังคม 
 
ผลการวิเคราะห์สะท้อนให้เห็นว่า รายได้ภาคเกษตรที่เติบโตแบบ “อ่อนแรงลง” มีส่วนทำให้ครัวเรือนเกษตรมีภาระหนี้สูงขึ้น จนเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมเกษตรไทยไปสู่ความยั่งยืน พร้อมทั้งยังสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหารของสังคมไทย โดย SCB EIC พบว่า ความก้าวหน้าของ AgriTech ในปัจจุบันและกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ มีศักยภาพที่จะเพิ่มรายได้ภาคเกษตรอย่างมหาศาล อย่างไรก็ดี การส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีการใช้ AgriTech อย่างแพร่หลาย และการนำกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์มาช่วยให้เกษตรกรปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูงจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างธุรกิจที่ให้บริการ AgriTech แก่เกษตรกร รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการนำเกษตรกรไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูงในตลาดโลก ในขณะที่ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการหันมาใช้ AgriTech เข้าร่วมคลัสเตอร์และปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนไปปลูกพืชมูลค่าสูง ส่วนภาคประชาสังคม จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เกษตรกรเกิดความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของ AgriTech และการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันจนสามารถยกระดับรายได้จากภาคเกษตรได้ ก็จะช่วยยกระดับรายได้ครัวเรือนในชนบท ช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับสังคมไทย และช่วยให้อุตสาหกรรมเกษตรไทยสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/agritech

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี (kaittisak.kumse@scb.co.th) นักวิเคราะห์อาวุโส                                                     
INDUSTRY ANALYSIS
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis
 
โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต
 
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส
 
จิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์
























 

บันทึกโดย : วันที่ : 08 ธ.ค. 2565 เวลา : 16:46:31
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 5:35 pm