หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง อีกทั้งความเสี่ยงจากการเกิด Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเร่งตัวเพิ่มสูงขึ้น นักวิเคราะห์จึงประเมินว่าเฟด อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตเร็วกว่าคาด ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับเชิงบวกและปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอ่อนค่าลงไปอย่างมากในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จากที่เคยแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การทยอยผ่อนปรนกฎเกณฑ์ควบคุม COVID-19 ในจีน สะท้อนว่าทางการจีนมีความตั้งใจจะเปิดประเทศมากขึ้นในปี 2566 ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นจีนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และหากเศรษฐกิจจีนมีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์จากเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคอีกระลอก
จากที่เฟดมีการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 7 ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ล่าสุดค่าเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐ หรือ CPI ในรอบเดือนตุลาคม มีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 7.7% ซึ่งเป็นค่าที่ปรับตัวลดลงมาจากจุดพีกในเดือนมิถุนายน และลดลงจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งยังเป็นค่าที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้ที่ 8.0% อีกด้วย จึงมีโอกาสที่เฟดจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำลง เป็นปัจจัยบวกต่อภาคเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นหลังจากนี้
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ใน 11 เดือนแรกของปี 2565 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก จากเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวดีต่อเนื่องในไตรมาส 3/2565 ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า และการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 3 ไตรมาสแรกฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังปรับประมาณการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนใน SET ให้เติบโตดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,635.36 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.7% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงอยู่ที่ 1.3% ซึ่ง SET Index ใน 11 เดือนแรกปี 2565 ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
โดยในเดือนพฤศจิกายน 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 64,422 ล้านบาท ลดลง 30.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 11 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 78,637 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 30,129 ล้านบาท ทำให้ใน 11 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 184,060 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และในเดือนเดียวกัน มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 4 หลักทรัพย์ และใน mai 3 หลักทรัพย์ โดยมูลค่าระดมทุนรวมในหุ้น IPO ของไทยปี 2565 ยังอยู่ในระดับต้นๆ ของเอเชีย
ส่วน Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ระดับ 15.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่าอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนดังกล่าว อยู่ที่ระดับ 2.81% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.11%
แต่ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 504,651 สัญญา ลดลง 1.4% จากเดือนก่อน และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 TFEX ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 554,370 สัญญา ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures
ข่าวเด่น