เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำได้จริงหรือไม่ ในเวลาที่ค่าครองชีพนำหน้ามาไกลแล้ว


 
ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นในทุกๆ วัน แต่ค่าแรงหรือค่าจ้างขั้นต่ำนั้นกลับถูกแช่แข็งมาตั้งแต่ปี 2555 ในสมัยรัฐบาลของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งจวบจนมาถึงวันนี้ เรทค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาท/วัน ก็ปรับขึ้นมาเพียง 13-36 บาทเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักยภาพของแรงงาน ผู้คนมีอำนาจในการจับจ่ายน้อยลงสวนทางกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่นับวันยิ่งมีแต่จะแพงขึ้น ฉะนั้นในฤดูการหาเสียงเพื่อเตรียมเลือกตั้งในเดือนพ.ค.ปีหน้า นโยบายจากฝั่งพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย “แพทองธาร ชินวัตร” ด้วยการเสนอการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาเป็น 600 บาท/วัน จึงเป็นเรื่องที่ถูกสังคมกระแสหลักเพ่งเล็ง และเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันในวงกว้างว่านโยบายนี้สามารถทำได้จริง หรือแค่เป็นเรื่องขายฝัน
 
หากย้อนไทม์ไลน์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะพบว่าในช่วงปี 2555 ภายใต้การนำรัฐบาลของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 159-221 บาท/วัน เป็น 222-300 บาท/วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 จากนั้นในวันที่ 1 ม.ค.2556 รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งใน 70 จังหวัด ทำให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันอยู่ที่ 300 บาท/วัน แต่หลังจากปีดังกล่าวที่เปลี่ยนมาเป็นสมัยของรัฐบาลของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ก็ไม่ได้มีการประกาศขึ้นค่าแรงอีกเลยจนกระทั่งวันที่ 1 ม.ค.2560 รัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300-310 บาท/วัน และต่อมา วันที่ 1 เม.ย.2561 ก็ได้ขยับขึ้นเป็น 308-330 บาท/วัน จากนั้นหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่รัฐบาลยังคงอยู่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงอีกครั้งหนึ่งเป็น 313-336 บาท/วัน โดยเป็นการปรับค่าแรงขึ้นล่าสุด และไม่ขยับขึ้นอีกเลยเป็นเวลา 2 ปี จวบจนถึงปี 2565 นี้
 
ซึ่งจากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น เท่ากับว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น (2555-2565) มีการขยับขึ้นเพียง 13-36 บาท/วัน ขณะที่ค่าครองชีพนำหน้ามาไกลกว่า หากดูค่าของ GDP หรือรายได้รวมของทั้งประเทศ 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตขึ้น 20% แต่ค่าแรงขั้นต่ำในช่วงเดียวกันคำนวณแล้วเติบโตไม่ถึง 5% เสียด้วยซ้ำ ซึ่งแปลว่ารายได้ของคนกลุ่มนี้เติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจในประเทศ สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทย
 
การที่พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอ 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศไทย ปี 2570 ไปเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ เกี่ยวกับ ภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การท่องเที่ยว สาธารณสุข โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ กับข้อที่ว่าจะมีการผลักดันให้คนไทยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท/ปี ภายในปี 2570 และคนไทยจะต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ส่วนคนที่จบปริญญาตรีจะมีฐานเงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท จึงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจกับประเด็นนโยบายเขย่าวงการข้อนี้อย่างมาก ซึ่งก็มีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
 
โดยฝั่งที่ไม่เห็นด้วยนั้น มองว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเป็น 600 บาท/วัน จะทำให้ค่าครองชีพยิ่งพุ่งสูงขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนของสินค้าและการบริการให้มีราคาแพงมากกว่าที่เป็นอยู่ กระทบต่อผู้บริโภค และสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่อาจเป็นต้นเหตุให้พวกเขาปิดกิจการล้มหายตายจากไป เพราะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว การหาเสียงแบบนี้ เป็นการโยนภาระให้ภาคเอกชน เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และอาจจะกระทบกับนักลงทุนต่างประเทศ ที่จะทำให้เขาไม่กล้าเข้ามาลงทุน ซึ่งในฝั่งของพล.อ.ประยุทธ์ ก็กล่าวกับสื่อว่า “ต้องไปดูว่าทำได้จริงหรือเปล่า หลายๆเรื่องก็มีการเปิดเผยมาโดยตลอดว่า จะทำโน่นทำนี่ มันไม่ง่ายนักหรอกที่จะทำ วันนี้เราทำโครงสร้างต่างๆ มากมายหลายอย่าง เพื่อให้มันไม่มีปัญหาในอนาคต ก็ต้องดูว่ามันมีผลกระทบอะไรหรือเปล่า การจะขึ้นค่าแรง ต้องผ่านกรรมการ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องดูว่านักลงทุน ผู้ประกอบการไหวหรือไม่ ทุกวันนี้ค่าแรงก็มีความแตกต่างอยู่แล้ว แรงงานที่มีฝีมือก็มีค่าแรงสูงอยู่แล้ว”
 
ส่วนฝั่งที่เห็นด้วยมองว่า ค่าแรงขั้นต่ำของไทยควรมีการปรับขึ้นได้ตั้งนานแล้ว เพราะค่าครองชีพในประเทศมันนำหน้าไปไกลกว่ามากแล้ว ซึ่งสมัยปี 2555 ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 159-221 บาท มาเป็น 300 บาท/วัน ก็ไม่ได้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจแต่อย่างใด และรัฐบาลควรหันมาสนใจความเป็นอยู่ของแรงงานว่าจะอยู่ได้หรือไม่ แทนที่ไปให้ความสำคัญกับเจ้าของธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าการขึ้นค่าแรง ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจคงรู้สึกไม่เห็นด้วย แต่ค่าแรงควรพิจารณาจากจำนวนค่าจ้างที่จะสามารถรองรับความเป็นอยู่ของลูกจ้างได้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตแบบปกติที่เพียงพอของลูกจ้าง แต่ไปพิจารณาในฝ่ายนายจ้างอย่างเดียวว่าจ่ายไหวหรือไม่  สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ เงินหมุนเวียนจึงไปกระจุกอยู่กับฝั่งนายจ้างมากกว่า เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจริงๆแล้วอัตราค่าจ้างควรคำนึงในฝั่งของลูกจ้างเป็นหลัก ส่วนธุรกิจไหนที่พยุงตัวไม่ไหว รัฐบาลค่อยเข้าไปช่วยตรงส่วนนี้ในกรณีที่จำเป็น โดยอาจเลือกช่วยธุรกิจที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจเท่านั้น อีกทั้งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน และแรงงานก็เป็นสัดส่วนต้นทุนเพียง 10% เท่านั้นของธุรกิจ ฉะนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการจ้างงานที่ลดลงเมื่อมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
 

 
โดยวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางพรรคเพื่อไทยได้มีการออกมาชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายที่กำลังเป็นประเด็นดังกล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ต้นเหตุนั้นก็มาจากการที่ผู้ใช้แรงงานในไทยยังไม่ได้รับค่าแรงที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ถ้าแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น การบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น สุดท้ายก็จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น หากผู้นำประเทศมีแนวคิดว่าประเทศไทย มีบทบาทเป็นผู้ผลิตตามคำสั่ง ไร้ฝีมือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเกษตรกรขั้นพื้นฐาน และภาคการท่องเที่ยวที่มีราคาถูก ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่หากภายใต้การนำรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยจะยกระดับการผลิต จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ผลิตที่ได้รับคำสั่งจากต่างชาติ จะปรับบทบาทขึ้นมาเป็นผู้ผลิตนวัตกรรม ภาคการเกษตร จะมีมาตรการดูแลราคาผลผลิต ภาคบริการจะมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น และไทยจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วยเศรษฐกิจที่มีแรงงานศักยภาพสูง
 
ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จึงเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และจะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะสูงตามไปด้วย พร้อมทั้งกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันด้วยว่า ตอนนี้เงินในระบบ มีอัตราการหมุนเวียนช้าที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว
 
และข้อมูลข้างต้น ก็เป็นเสียงจากคนในสังคมที่แยกออกเป็น 2 ฝั่ง ว่านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำได้จริงอย่างที่สำเร็จไปแล้วในปี 2555 หรือไม่ หรืออาจเป็นนโยบายประชานิยมเพ้อฝัน ที่เสี่ยงต่อวินัยทางการคลัง แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายจากทางฝั่งพลังประชารัฐ ในปี 2562 ที่เคยให้สัญญาไว้ว่า หากชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท/วันนั้น ในขณะนี้ ยังไม่ได้มีประกาศขึ้นค่าแรงออกมาตามที่เคยหาเสียงไว้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ธ.ค. 2565 เวลา : 20:27:34
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 5:54 pm