“เศรษฐี” หมายถึง คนรวย,คนมั่งคั่ง,คนมั่งมี การเป็นเศรษฐีไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าคุณไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีทรัพย์สินเงินทองรองรับ ซึ่งก็มีหลายคนที่พัฒนาตนเองด้วยความมุมานะ อุตสาหะ ก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต จนกลายเป็นเศรษฐี เป็นคนมั่งคั่ง มั่งมีได้ แต่การเป็นเศรษฐีก็ไม่ใช่สิ่งที่การันตีว่าเงินทองจะอยู่กับเราตลอดไป และที่สำคัญการเป็นเศรษฐีก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำให้เรามีความสุขในชีวิตได้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถตอบคำถามได้ถึงแนวทางการดำเนินชีวิตที่เป็นหนทางสู่การแก้ปัญหาความจนสู่การเป็นเศรษฐีและมีความสุขได้อย่างยั่งยืน
ทิพยสืบสาน รักษาต่อยอด นวัตกรรม ศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 24 นำพาครู อาจารย์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศลงพื้นที่ ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) จ.สุพรรณบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมเป็นประธานเปิดงาน และร่วมลงมือทำกิจกรรมกับผู้ร่วมโครงการ นำโดย นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) พร้อม ทำกิจกรรมการดำนาแบบโบราณ และเก็บไข่เป็ดไข่นกกระทาจากเล้า มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้รับการออกแบบและดำเนินการ โดย นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) ให้การต้อนรับและร่วมบรรยายประสบการณ์ชีวิตจิตวิญญาณชาวนาไทย ที่พลิกฟื้นจากความล้มเหลวสู่การเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืน กว่าจะประสบความสำเร็จมาเป็นนาเฮียใช้เช่นทุกวันนี้ ครอบครัวต้องประสบกับปัญหาอย่างไรบ้างจากเดิมประกอบอาชีพรับซื้อข้าวเปลือกและขยายกิจการ จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวผลิตต้นกล้าเพื่อนำมาเพาะปลูก ต้องใช้ความเพียร ความอดทน การเรียนรู้และทดลองมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม สร้างรากฐานของชีวิตให้แข็งแรง จากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ “เดินทางตามรอยพ่อ คือศรัทธาของนาเฮียใช้ คนเราโจทย์ในการสร้างชีวิตไม่เหมือนกัน ความสำเร็จไม่ได้วัดด้วยตัวเงิน แต่ถ้ายึดหลักของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชีวิตให้มีความมั่นคงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเมื่อไหร่ ย่อมทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จการดำรงในชีวิต” นายนิทัศน์ กล่าวสรุป
และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตรย์ไทยทุกพระองค์ และบุญคุณของแผ่นดินไทยที่เกื้อกูลให้ครอบครัวได้มีที่ทำมาหากิน จึงได้ก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้วิถีชิวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย เพื่อพัฒนาให้แปลงนาแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนได้มาศึกษาหาความรู้เรื่องข้าวและวิถีชีวิตชาวนาไทยสืบทอดภูมิปัญญา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สมบูรณ์ครบครัน ในจังหวัดสุพรรณบุรี
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “นาเฮียใช้ นับได้ว่าเป็นตัวอย่างขององค์กรเอกชนที่ประสบความสำเร็จจากการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือปรับใช้กับการพัฒนาธุรกิจ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน โดยยึดแนวทางปฏิบัติที่ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ลงทุนเกินขนาด พึ่งพาตนเอง ยึดหลักสายกลางให้อยู่ได้อย่างสมดุล แต่มีการรวมตัวกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระดับสังคม รวมกลุ่มทำประโยชน์เพื่อสังคมเกิดพลังใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เต็มที่ และพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ให้สูงขึ้นและหลากหลายมากขึ้น สร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนไปจนถึงระดับชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและเป็น “เศรษฐีได้อย่างยั่งยืน” คือร่ำรวยอย่างมีความสุขและยั่งยืน
ด้าน นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า “การมาลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่นาเฮียใช้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับ ครูอาจารย์ และผู้บริหารทุกท่าน เราจะได้เห็นของจริงที่พิสูจน์ได้ว่าแนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้นไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีที่ทำให้เข้าใจว่า พออยู่พอกิน เท่านั้น แต่สามารถพัฒนาให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลต่อเนื่องไปถึงความเจริญในภาพรวมของประเทศชาติได้อย่างแท้จริง”
เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในการทำธุรกิจ อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ได้พัฒนาบอร์ดเกมการทำเวิร์คชอป สำหรับครูอาจารย์และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในหัวข้อ “สร้างงานให้เป็นเงิน ตามแนวปรัชญาของเศษฐกิจพอเพียง" เป็นการสร้างประสบการณ์และความเข้าใจในการบริหารโครงการธุรกิจด้วยความพอดี มีการบันทึกบัญชี รายรับ รายจ่ายอย่างเป็นระบบ เรียนรู้ในการใช้ข้อมูลทางการเงินเพื่อการตัดสินใจในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนการดึงศักยภาพภายในตัวเองที่มีอยู่มาใช้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม องค์การมหาชน กล่าวเสริมว่า “คุณธรรม 5 ประการ ที่ประกอบด้วยความพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และ กตัญญู เป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางด้านการบริหารจัดการและสร้างผลกำไร โดยเริ่มได้จากตนเอง ต่อเนื่องไปถึงคนรอบข้าง องค์กร สังคม จนเกิดเป็นความยั่งยืน”
โครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) มูลนิธิธรรมดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังเพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
กิจกรรมทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 25 เตรียมลงพื้นที่ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 21-22 มกราคม 2566 สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com ตามรอยพระราชา - The King's Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation
ข่าวเด่น