ความต้องการสินค้าในหลายประเทศทั่วโลกชะลอตัวลงชัดเจน หลังค่าครองชีพอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยรวมมีผลเกี่ยวเนื่องทำให้กิจกรรมภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าทั่วโลกมีทิศทางชะลอตัวลง สะท้อนจากข้อมูลสำรวจคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกทั่วโลก (Global PMI New Export Orders) ที่ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงเมษายน 2565 ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics จึงประเมินว่า การเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพียง 2.8% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและสหภาพยุโรปซึ่งมีสัดส่วนส่งออกกว่า 21% มีสัญญาณอ่อนแรงลงค่อนข้างชัดเจน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีความชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง โดย 10 เดือนแรกของปีมีนักท่องเที่ยวขาเข้าสะสมอยู่ที่ 7.2 ล้านคน สูงกว่าที่เคยประเมินไว้ และมองว่าการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า เบื้องต้นจึงได้ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 และ 2566 อยู่ที่ 10.5 และ 22.4 ล้านคน ตามลำดับ โดยการฟื้นตัวมาจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียน และกลุ่มเอเชียตะวันออกที่ไม่รวมจีนเป็นหลัก
สำหรับในปี 2566 มีโอกาสที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะสูงกว่าที่มองไว้จากนักท่องเที่ยวจีน เอเชียใต้และตะวันออกกลาง เป็นหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ล่าสุดปลายปี 2565 ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดภายในประเทศลงแล้ว รวมถึงผ่อนคลายการเดินทางเข้าออกพรมแดนกับฮ่องกง โดยมองว่าอย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 2/2566 จีนจะปรับลดความเข้มงวดในการควบคุมการเดินทางข้ามพรมแดนกับประเทศอื่น ๆ ลงเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนมาไทยในปี 2566
ในส่วนการนำเข้าบริการของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามแนวโน้มค่าระวางเรือที่ถูกลง แต่ผลดีอาจถูกลดทอนลงไปบ้างบางส่วน เนื่องมาจากคนไทยที่มีกำลังซื้อสูงบางส่วนที่ออกเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นหลังหยุดเดินทางมานานในช่วงวิกฤตโควิด-19 จึงประเมินว่าดุลบริการของไทยจะกลับมาเกินดุลได้ในต้นปี 2566 หลังขาดดุลอย่างมากในช่วงปี 2563-2565 การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลดีต่อการจ้างงานในภาคบริการ และช่วยให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีทิศทางดีขึ้นด้วย ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสนับสนุนการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนในปี 2566 สะท้อนจากการเติบโตของยอดค้าปลีกที่ทยอยปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ค่าครองชีพในภาพรวมที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านอาหารและสินค้าทั่วไปผ่านห้างสรรพสินค้าที่ยังขยายตัวดี สอดคล้องกับยอดการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่ยังดีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยในปี 2566 ยังมีการเติบโตของจำนวนคนต่อครั้งของการเดินทางอยู่ แต่ยอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวโดยรวมอาจแผ่วลงบ้าง เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวที่แพงขึ้นและค่าครองชีพที่สูง
สำหรับแรงส่งจากภาครัฐในระยะข้างหน้า คาดว่าจะยังมีข้อจำกัดจากความสามารถในการเร่งเบิกจ่าย สะท้อนได้จากงบลงทุนที่มียอดเบิกจ่ายสะสมนับตั้งแต่เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 ยังอยู่ที่ราว 15% ของกรอบงบประมาณ ซึ่งถือว่าเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย ส่วนการเบิกจ่ายงบประจำสะสมยังอยู่ที่ราว 29% ของกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้ ถือว่าเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ระดับมูลค่ากิจกรรมเศรษฐกิจในภาคการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น ตามข้อมูลจริงของการลงทุนในช่วง ไตรมาส 3/2565 ที่สูงกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่มุมมองโมเมนตัมการลงทุนของภาคเอกชนในระยะหน้าจะได้รับผลลบทั้งจากการส่งออกที่ชะลอตัว การแผ่วตัวลงของภาคก่อสร้างและอสังหาฯ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ยังมีโอกาสเผชิญขีดจำกัดในการเบิกจ่าย
จากปัจจัยข้างต้น ttb analytics จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.6% เร่งตัวขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 3.2% โดยการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการบริโภคจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี ดังนั้น การปรับใช้นโยบายเพื่อกระตุ้นเม็ดเงินการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อให้เกิดการกระจายตัวไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ รวมทั้งนำเสนอสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้มากขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงก็ตาม
ข่าวเด่น