ข่าวน้องนักเรียนอายุ 17 ปี กินหมูกระทะกับครอบครัวหลังจากนั้น 4 วัน มีอาการอาเจียน มีไข้สูง-ต่ำ เล็บมือ-เท้าดำ ใต้ตาคล้ำ ก่อนหมดสติ จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลและนำเข้าห้องไอซียู (Intensive Care Unit) ทันที โดยแพทย์ตรวจพบการติดเชื้อในกระแสเลือด จากการเจาะไขสันหลังไปตรวจพบเชื้อ “สเตรปโตคอคคัส ซูอิส” หรือ “ไข้หูดับ” แต่ก็ยังมีการตรวจสอบเพิ่มเติมเชื้อโรคชนิดอื่น ที่อาจจะมีผลต่ออาการอื่นๆ เนื่องจากขณะนี้น้องยังนอนนิ่งเป็น “เจ้าหญิงนิทรา” ซึ่งแพทย์ให้ความเห็นว่าโอกาสที่จะพบเคสลักษณะนี้มีน้อย แต่ไม่ใช่ “ไม่มี” เป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ของคนไทย เพียงแค่ใช้ตะเกียบอันเดียวกันคีบทั้งเนื้อหมูสุกและหมูดิบ
จากเคสดังกล่าว หากมองที่พฤติกรรมการบริโภคของคนไทย พบว่ายังละเลยกับเรื่องสุขอนามัยใกล้ตัว แต่ให้ความสำคัญกับราคาถูกมากกว่าคุณภาพ ที่สำคัญช่วงนี้ที่เป็นข่าวแพร่หลายว่า “หมูเถื่อน เกลื่อนไทย” เพราะมีราคาถูกมากเฉลี่ยที่ 135-140 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน่าคบหาสำหรับร้านหมูกระทะและร้านอาหารตามสั่งที่ ในแต่ละวันต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก ต้นทุนต่ำทำให้รักษาราคาถูกไว้จูงใจลูกค้า ผู้บริโภคยิ่งชอบใจ หารู้ไม่ว่าแฝงไปด้วยเชื้อโรคชนิดต่างๆ ทั้งเชื้อรา และล่าสุดนำเนื้อไปแช่ฟอร์มาลิน เพื่อส่งร้านหมูกระทะ และร้านอาหารอีสาน
เมื่อเทียบกับหมูไทยที่เน้นคุณภาพปลอดภัย เนื้อแดงราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 189-200 บาทต่อกิโลกรัม ยิ่งช่วงนี้หมูน้อยเพราะโดนโรค ASF ทำลายทั้งแม่หมูและหมูขุนไปมากกว่า 50% ราคาจึงสูงกว่าปกติตามกลไกตลาดและอุปสงค์-อุปทาน ที่สำคัญหมูไทยโชว์เหนือ คือ ปราศจากสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข ประกาศห้ามใช้เด็ดขาดมากกว่า 10 ปี แล้ว
นอกจากนี้ หมูไทยยังต้องผ่านการตรวจสอบโรคระบาดทั้งในสุกรและโรคติดต่อสู่คนอย่างเข้มงวด เป็นหลักประกันความปลอดภัยในการบริโภค ขณะที่ “หมูเถื่อน” ไม่ผ่านการตรวจสอบโรคและมาตรฐานความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
สัตวแพทย์หลายท่านออกมาเตือนผู้บริโภคเรื่อง “หมูเถื่อน” โดยล่าสุด ผศ.น.สพ. ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ย้ำว่า การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน แม้จะมาในลักษณะแช่แข็งก็ยังเป็นพาหะของโรคที่สำคัญมาก หากประเทศต้นทางยังมีการแพร่ระบาดของโรค ASF จะส่งกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้เลี้ยงหมู โรงงานอาหารสัตว์ ผู้บริโภค และยังกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะการระบาดของโรค ASF มีโอกาสทำให้หมูตาย 95-100% แม้ว่าโรคนี้ไม่ติดคนและเนื้อสุกรยังมีความปลอดภัย แต่เมื่อคนกินเข้าไปจะเป็นพาหะติดตามเนื้อตัว หรือ ทางอุจจาระ และการตรวจสอบคุณภาพหมูเถื่อนทำได้ยาก เนื่องจากหลายประเทศยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ชนิดแรคโทพามีน (Ractopamine) จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคโดยตรง
สำคัญที่สุด คือความปลอดภัยของผู้บริโภค การรับประทานเนื้อสัตว์ต้องปรุงสุก ไม่ควรรับประทานเนื้อดิบ หรือ สุกๆดิบๆ ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากร้านที่เชื้อถือได้ หรือ ร้านที่มีสัญญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และไม่ควรละเลยสุขอนามัยที่ดีส่วนบุคคล ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ไม่ใช่ภาชนะรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อความปลอดโรค ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพอย่างยั่งยืน./
ข่าวเด่น