นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงส่งสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มจะเกิดในปีหน้า
ในช่วงปี 2565 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีการปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น เนื่องมาจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงมากจนต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงตามไปด้วย จนเกิดภาวะตึงตัวของการเงินโลก แต่ต่อมาปัญหาเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายลงมา ซึ่งทางด้านเศรษฐกิจของไทยเองก็ได้รับผลกระทบที่ไม่รุนแรงจากภาวะดังกล่าวมากนัก ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนธปท. ก็เข้ามาประคับประคองค่าเงินบาท ทำให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วงระยะหลังๆมาของปีนี้
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประชุม กนง.ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ย.65 มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 นี้ จะขยายตัวได้ 3.2% และจะค่อยๆ ปรับขึ้นไปเป็น 3.7% ในปี 2566 และเป็น 3.9% ในปี 2567 และ ค่า GDP อาจกลับมาก่อนช่วง Pre Covid-19
ซึ่งแรงส่งสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในปีนี้และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในปีถัดไป ได้แก่ปัจจัยสำคัญอย่างภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน โดย กนง.ได้ประเมินว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ น่าจะไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านคน ส่วนในปี 2566 ขึ้นไปอยู่ที่ 22 ล้านคน และในปี 2567 ที่ 31.5 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า ในช่วง Q1 ของปี 2566 ยอดนักท่องเที่ยวมากกว่าช่วง Q4 ของปี 2565 ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนนั้น เริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และรายได้ที่ปรับดีขึ้น ผู้ที่ไม่ได้งานทำในช่วงก่อนหน้าทยอยกลับเข้าทำงาน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่ คือ เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่อาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย อีกทั้งเรื่องของเงินเฟ้อที่ต้องจับตาดูกันต่อไป ว่าปีหน้าจะปรับตัวสูง หรือต่ำกว่าระดับ 3% ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะอาจมีความเสี่ยงเรื่องของการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด จากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน หรือเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาดตามที่กล่าวไป
ข่าวเด่น