หลังจากที่แบงก์ไทยดำเนินธุรกิจผ่านปี 2565 โดยผ่านคลื่นลมของความท้าทายมาหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 การปรับเกณฑ์ต่างๆ ของทางการจากที่เน้นมาตรการแบบปูพรมและช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือลูกหนี้ มาเป็นมาตรการเฉพาะจุด และทยอยปล่อยให้มาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินหมดอายุลง รวมถึงการปรับดอกเบี้ยขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นนั้น ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ก็ทยอยปรับตัวดีขึ้นจากปี 2564 ทำให้สำหรับทั้งปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย (แบงก์ไทย) จะมีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองและภาษี) ที่เติบโตจากปีก่อนประมาณ 12.4% มาที่ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องของสินเชื่อ ซึ่งหากผนวกกับค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงจากปีก่อน ที่มีการตั้งสำรองฯ เชิงรุกแล้ว คาดว่าระบบแบงก์ไทยจะมีกำไรสุทธิประมาณ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 34%
มองต่อไปในปี 2566 แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงหนุนจากการท่องเที่ยว แต่ก็ยังถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในมิติของประเภทธุรกิจ หรือขนาดของธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวในครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจแบงก์ไทยในปี 2566 น่าจะให้ภาพการฟื้นตัวที่ระมัดระวังเช่นกัน ขณะที่จุดจับตาหลักจะมีหลายเรื่อง ซึ่งกระทบต่อภูมิทัศน์ของการทำธุรกิจและการแข่งขัน (Financial Landscape) ดังนี้
ภูมิทัศน์ที่ธุรกิจหลักจะเติบโตในกรอบจำกัด
· สินเชื่อขยายตัวในกรอบระมัดระวัง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในปี 2566 จะเติบโตในกรอบจำกัด ราว 4.2-5.2% (ค่ากลาง 4.7%) เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะโต 5.0% ตามผลของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และผลของมาตรการให้ความช่วยเหลือที่หมดลง ขณะที่สินเชื่อที่นำการเติบโตจะมาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่มีความสามารถในการรับมือกับต้นทุนการดำเนินงานที่ยังเพิ่มขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า นอกจากนี้การฟื้นตัวของธุรกิจ ทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สุขภาพ การส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม และค้าปลีก น่าจะให้อานิสงส์เชิงบวกกับผู้ประกอบการรายใหญ่และกลางมากกว่า ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 20 ล้านบาท ยังไม่ฟื้นตัวดีจากโควิดรอบก่อน สำหรับสินเชื่อรายย่อยปีหน้า น่าจะคงอัตราการเติบโตเท่ากับปี 2565 ภายใต้แรงกดดันจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง
· เอ็นพีแอลอาจไม่ลดลง โดยคาดการณ์ว่าเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ (ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยและธนาคารต่างชาติ) ณ สิ้นปี 2566 น่าจะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80% เทียบกับ 2.65-2.75% ที่คาดไว้ ณ สิ้นปี 2565 ทั้งนี้ นอกจากธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว แรงกดดันด้านคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีสินเชื่อที่เริ่มมีความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage 2) สูงกว่าสินเชื่อรายย่อยตัวอื่นๆ รวมถึงสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน อย่างเช่นบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
ทั้งนี้ ความแตกต่างสำคัญระหว่างปี 2566 และ 2565 คือในปี 2566 จะไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือพิเศษให้กับลูกหนี้เป็นการทั่วไปเพิ่มเติมแล้ว การลดเอ็นพีแอลจึงต้องฝากความหวังไว้ที่การปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นหลัก ภายใต้นโยบาย ธปท.ที่ต้องการเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยั่งยืน นั่นคือ ช่วยลดภาระผ่อนชำระและยืดระยะเวลาผ่อนชำระ ให้เหมาะสมกับศักยภาพลูกหนี้แต่ละราย
· การขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าฟื้นตัวจำกัด จะมีผลบวกที่น้อยลงต่อส่วนต่างดอกเบี้ย (%NIM) เมื่อเข้าสู่ปี 2566 เนื่องจากต้องทยอยรับรู้ต้นทุนเงินฝากประจำที่ปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 ขณะเดียวกัน คาดว่าภายใต้เงื่อนไขที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าฟื้นตัวในกรอบจำกัด ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมน่าจะจำกัดตามไปด้วยเพื่อช่วยเหลือลูกค้า แม้ต้นทุนเงินฝากจะปรับขึ้นตามการปรับอัตราเงินนำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ก็ตาม
ทั้งนี้ หากสมมติให้ในปี 2566 แบงก์ไทยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลประมาณ 0.125% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปอีก 1.0-1.75% ขณะที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมประมาณ 0.75% นั้น จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (%NIM) ขยับขึ้นประมาณ 12 bps. มาที่ประมาณ 2.80% เทียบกับที่ขยับขึ้นราว 17 bps. ในปี 2565
· ภาระการตั้งสำรองฯ ที่อาจยังไม่สามารถลดลงมากได้นั้น จะยังกดดันกำไรสุทธิ เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมที่ยังไม่นิ่ง ขณะที่ หากเทียบข้อมูลไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าไทยยังมีเอ็นพีแอล สูงกว่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้ภาระในการตั้งสำรองฯ สูงกว่าประเทศอื่นๆ จนกดดันการฟื้นตัวของ ROE ตามมา ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ก็คาดว่าจะปรากฎขึ้นต่อไปในปี 2566 เช่นกัน ผ่านการคาดการณ์กำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในปีหน้าที่คงจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ที่ 34% หลังสัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (% Credit Cost) อาจจะยังไม่สามารถลดลงต่ำกว่า 1% ได้ในปีหน้า (คิดเป็นภาระการตั้งสำรองฯ กว่า 1.5 แสนล้านบาท) เทียบกับ 1.2% ในปี 2565 (คิดเป็นภาระการตั้งสำรองฯ ประมาณ 1.7-1.8 แสนล้านบาท)
ภูมิทัศน์ที่ต้องเร่งแสวงหาธุรกิจใหม่
· โจทย์การช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อและขยายโอกาสทางธุรกิจ ทำให้แบงก์ไทยยังเดินหน้าปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) สำหรับในปี 2566 แม้หนี้ครัวเรือนจะมีโอกาสลดลงมาที่สัดส่วนที่ต่ำกว่า 85% ต่อจีดีพี จากผลการเติบโตของจีดีพี (ตัวฐาน) เป็นสำคัญ แต่หนี้ครัวเรือนที่ระดับดังกล่าวก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลกับสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กและย่อย ผ่าน Digital Lending แต่ด้วยความจำเป็นในการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จึงทำให้แบงก์ไทยต้องเดินหน้าธุรกิจดังกล่าวต่อเนื่อง โดยพยายามเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า สร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ และสร้างระบบนิเวศที่จะทำให้เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ของลูกค้าที่มีความหมายและมากพอต่อการประเมินเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อดิจิทัลทั้งในบริบททั่วไป (ไม่ใช่นิยาม ธปท.และเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการจำนวน 8 ราย) คงขยายตัวประมาณ 10% มาที่ยอดคงค้างประมาณ 56,050-60,720 ล้านบาท เพียงแต่ด้วยวงเงินสินเชื่อต่อรายที่น้อยและรอบการชำระคืนที่เร็ว คงทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหมดอาจยังไม่เกินระดับ 8%
· นอกเหนือจากธุรกิจด้านสินเชื่อดิจิทัลแล้ว คาดว่าจะเห็นการให้น้ำหนักกับการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นๆ ด้วย นั่นคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ธุรกิจต่างประเทศ ไปจนถึงธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงินโดยตรง อาทิ ธุรกิจอาหารและสันทนาการ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ย้ำทิศทางของธุรกิจแบงก์ที่วิ่งสู่ Beyond Banking Business ในอนาคต อันทำให้แบงก์ไทยคงมีส่วนผสมของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และรายได้จากการถือหุ้นในกิจการที่ตั้งขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ภูมิทัศน์ของกติกาที่เร่งการแข่งขันในธุรกิจการเงินมิติต่างๆ
อีกความแตกต่างสำคัญในปี 2566 จะมาจากเกณฑ์การกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยของ ธปท. ซึ่งนอกจากเกณฑ์ด้าน ESG หรือ Green Taxonomy รวมถึง Digital Assets แล้ว ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาอื่นๆ ดังนี้
ข่าวเด่น