ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้เปิด 3 ปัจจัยกดดันหุ้นปี 2566 “เศรษฐกิจ-ถดถอย-เงินเฟ้อลงช้ากว่าคาด-ธนาคารกลางสำคัญทั่วโลกจ่อถอนสภาพคล่อง” แนะลดน้ำหนักลงทุนในหุ้น ซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ และหากดัชนีหุ้น S&P500 ลงมาต่ำกว่า 3600 จุด ให้ทยอยซื้อหุ้นเฮลธ์แคร์ และหุ้นเทคโนโลยีรับผลตอบแทนเด่น
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 2565 เป็นจังหวะที่่นักลงทุนควรปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นลง เนื่องจากปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง และไม่ได้สะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ยังมีอยู่มาก พร้อมกับแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งให้ผลตอบแทน (ยิลด์) ที่ราว 3.8% ซึ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนส่วนจากกำไรจากการตีราคา (Capital gain) เพิ่มอีก หากบอนด์ยิลด์เริ่มกลับมาลดลงในปีหน้า ทำให้มีโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ สกุลเงินดอลลาร์ สูงถึง 6-8% ซึ่งมากว่าผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินเป้าหมายดัชนี S&P500 ปี 2566 ไว้ที่ 4000 จุด
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้น สามารถรอจังหวะเข้าทยอยสะสมอีกครั้งเมื่อดัชนี S&P 500 ลงมาต่ำกว่า 3600 จุด โดยเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ที่กำไรไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจและโตได้ในระยะยาว และหุ้นเทคโนโลยีที่ในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลงมามาก และมีแนวโน้มฟื้นตัวในภาวะที่ Bond Yield เป็นขาลงในปี 2566
“ที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ รีบาวน์ขึ้นมาราว 15% จากจุดต่ำสุดของปี และค่า P/E ของตลาดกลับมาเทรดในระดับค่อนข้างสูงที่ราว 18 เท่า โดยเป็นผลมาจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ได้ผ่านจุดสูงสุดและลดลงมาอยู่ที่ระดับราว 7% และทำให้ตลาดเริ่มมีความหวังว่าปัญหาเงินเฟ้อจะคลี่คลายลง และ Fed จะสามารถกลับมาลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้ในปี2566 ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นกลับตัวเป็นขาขึ้นได้ในระยะยาว แต่ยังมีหลายปัจจัยลบที่นักลงทุนอาจหลงลืมไปทำให้ประเมินตลาดในเชิงบวกเกินไป” นายคมศรกล่าว
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่า ตลาดหุ้นในปี 2566 ยังมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยหลัก ที่นักลงทุนอาจคาดไม่ถึงหรือหลงลืมไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจฉุดให้ตลาดลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่ ซึ่ง ได้แก่
หนึ่ง ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย โดยตัวชี้วัดต่างๆ เริ่มสะท้อนภาพเศรษฐกิจถดถอยที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่น Yield curve ของสหรัฐฯ ที่ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี และดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่พลิกกลับมาอยู่ในแดนหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ในขณะที่นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะยังเติบโตต่อเนื่องในอัตราราว 7% ในปีหน้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและเป็นความเสี่ยงที่นักวิเคราะห์จะต้องปรับประมาณการผลกำไรลดลงอีกมากในปีหน้า
สอง ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะลดลงช้ากว่าที่คาด โดยปัจจุบันตลาดคาดว่าจะเห็นเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงไปอยู่ระดับ 3% ในช่วงปลายปีหน้า แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่ามีโอกาสที่เงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่านั้น เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านค่าจ้าง ซึ่งยังขยายตัวในระดับสูงถึง 5% ต่อปี ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว และเงินเฟ้อในหมวดที่อยู่อาศัยที่ยังขยายตัวสูงถึง 7% ต่อปี ซึ่งหากเงินเฟ้อไม่ได้ลดลงไปอยู่ที่ 3% ปลายปีหน้าตามที่ตลาดคาด ความหวังที่จะได้เห็น Fed กลับมาลดดอกเบี้ยปีหน้านั้นก็จะเป็นไปได้ยาก และทำให้ตลาดหุ้นที่ปัจจุบันเทรดที่พีอีค่อนข้างสูง ก็มีโอกาสที่จะปรับฐานอีกครั้ง
สาม ความเสี่ยงจากการถอนสภาพคล่องของธนาคารกลาง โดยในปัจจุบัน Fed เป็นธนาคารกลางหลักเพียงแห่งเดียวที่ถอนสภาพคล่องออกจากตลาดในอัตรา 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แต่ในปีหน้าธนาคารกลางอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางยุโรป และอังกฤษ จะเริ่มดำเนินการถอนสภาพคล่องไปพร้อมกับ Fed ด้วย ซึ่งทำให้ภาวะสภาพคล่องในปีหน้ามีแนวโน้มตึงตัวขึ้นมากกว่าปีนี้และเป็นความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อเนื่อง
ข่าวเด่น