เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ปริมาณธุรกรรมชำระเงินออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง...ขณะที่การต่อยอดธุรกิจของผู้ให้บริการยังเป็นโจทย์สำคัญ"


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และคาดว่า ในปี 2566 ปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์อย่างInternet Banking, Mobile Banking, และ e-Money น่าจะมีสัดส่วนแตะร้อยละ 95 ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด โดยมีปริมาณธุรกรรม 36,510 – 37,970 ล้านรายการ หรือเติบโตราวร้อยละ 40.0 – 45.6 จากปี 2565


ทั้งนี้ ระยะของการพัฒนาโมเดลธุรกิจการให้บริการชำระเงินออนไลน์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ 1) ระยะที่ 1 เป็นระยะของการเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการชำระเงินออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ Internet Banking โมบายแอปพลิเคชั่นอย่าง Mobile Banking และ e-Wallet 2) ระยะที่ 2 เป็นระยะของการโปรโมทเพื่อเร่งเพิ่มยอดผู้ใช้งานและปริมาณการทำธุรกรรมในแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ เพราะจะสามารถสร้างกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆ จากการขยายฐานลูกค้าเป็นวงกว้าง และสามารถนำข้อมูลพฤติกรรมการทำธุรกรรมของลูกค้ามาวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริง และ 3) ระยะที่ 3 เป็นระยะของการต่อยอดทำเงิน ซึ่งเป็นระยะแห่งความท้าทายทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แม้ว่าแนวโน้มพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคไทยจะมุ่งไปสู่การชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สอดรับการผลักดันนโยบายของทางการที่ต้องการเร่งลดการใช้เงินสดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ไปอีกขั้น แต่การต่อยอดทางธุรกิจของผู้ให้บริการชำระเงินดังกล่าวก็เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจดำรงอยู่และสามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจุดเปลี่ยนที่จะสามารถทำให้การต่อยอดนั้นประสบความสำเร็จ ก็คงเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้ข้อมูลในแพลตฟอร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ที่เข้มข้น ตลอดจนการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเสริมสร้าง Ecosystem ให้สมบูรณ์มากขึ้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ธ.ค. 2565 เวลา : 15:55:51
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 9:33 am