การที่จีนประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายรับมือโควิด-19 ไปเมื่อไม่นานมานี้ ได้ก่อให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
ข้อเท็จจริงคือ จีนอาจเผชิญกับความท้าทายบางประการในส่วนของยอดค้าปลีกและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงแรก ๆ ของการลดระดับการจัดการโควิด-19 และการยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในทันที นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น ยังหมายความว่าประชาชนต้องใช้เวลาสักระยะก่อนที่จะสามารถกลับไปใช้บริการร้านค้าและร้านอาหารต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดได้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของตลาดการบริโภคของจีนแล้ว โดยสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายโควิด-19 จำนวนคนเข้าโรงภาพยนตร์บางส่วนในกรุงปักกิ่งกลับมาอยู่ที่ 75% ของระดับปกติ และบรรดาร้านอาหารยอดนิยมมีลูกค้าเข้าร้านมากกว่า 80% แล้ว
หวง เหวินเถา (Huang Wentao) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไชน่า ซีเคียวริตีส์ (China Securities) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายรับมือโควิด-19 จะทำให้ชาวจีนต้องการเดินทางและใช้จ่ายมากขึ้น การบริโภคจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน อู่ เฉาหมิง (Wu Chaoming) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเชสซิง อินเตอร์เนชันแนล อีโคโนมิก อินสทิทิวท์ (Chasing International Economic Institute) เชื่อว่าการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่อหัวของชาวจีนจะเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 12% ในปีใหม่นี้
บริษัทต่างชาติจำนวนมากก็มีทัศนคติที่ดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของจีน “แม้ว่ามัน (การที่จีนลดระดับการจัดการโควิด-19) อาจนำมาซึ่งความท้าทายในระยะสั้น แต่เราเชื่อว่าเราจะได้เห็นการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว” เคนอิจิ ทานากะ (Kenichi Tanaka) ประธานบริษัท ฟูจิฟิล์ม (ไชน่า) อินเวสต์เมนต์ จำกัด (Fujifilm (China) Investment Co., Ltd) กล่าว
ต้องยอมรับว่าการต่อสู้กับโควิดอย่างยากลำบากตลอดสามปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการหยุดชะงัก แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังสามารถฟื้นตัวได้ ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนระบุว่า การค้าต่างประเทศของจีนขยายตัว 8.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 38.34 ล้านล้านหยวน (ราว 5.78 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565
ท่ามกลางอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกอันเป็นผลมาจากไวรัส ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนเติบโตในอัตราเฉลี่ย 4.6% ต่อปี ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ถึงไตรมาส 3 ปี 2565 จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ส่วนตัวเลขของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ 1.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และญี่ปุ่น มี GDP ขยายตัวต่ำกว่า 0.5%
นอกจากนี้ จีนยังมีเงินเฟ้อในระดับค่อนข้างต่ำที่ 2% จากข้อมูลของธนาคารกลางจีน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ข้อมูลของมูดี้ส์ อนาไลติคส์ (Moody's Analytics) ในปี 2565 ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันทั่วไปต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 445 ดอลลาร์ต่อเดือนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร พลังงาน และที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นก็สร้างแรงกดดันมากขึ้นให้กับชาวอเมริกันหลายล้านครัวเรือนที่ต้องรัดเข็มขัดอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม ราคาอาหารในจีนกำลังปรับตัวลดลง โดยลดลง 0.8% เมื่อเทียบรายเดือนในเดือนพฤศจิกายน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน
ความจริงชัดเจนกว่าคำพูด เศรษฐกิจของจีนยังคงมีความสามารถในการฟื้นตัวและมีความแข็งแกร่ง
ข่าวเด่น