ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดรุนแรง และฟื้นตัวช้ากว่าธุรกิจขนาดใหญ่มาก
ผลการศึกษาข้อมูลงบการเงินบริษัทจดทะเบียนในไทยช่วงปี 2017 ถึง 2021 กว่า 1.1 แสนรายพบว่า ภาพรวมของภาคธุรกิจได้รับผลกระทบมากจากวิกฤตโควิด ทั้งมิติความสามารถในการทำกำไรและปัญหาสภาพคล่องที่แย่ลง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร อย่างไรก็ดี ผลกระทบมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าสำหรับบริษัทขนาดเล็กทั้งความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงมากและยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ภาพรวมในปี 2021 บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2020 โดยบริษัทขนาดใหญ่มีความสามารถในการทำกำไรกลับไปใกล้เคียงช่วง Pre-COVID แล้ว สาเหตุหนึ่งอาจมาจากข้อจำกัดของบริษัทขนาดเล็กในการหาเงินทุนหมุนเวียนกิจการและการเข้าถึงสินเชื่อแม้จะได้รับการผ่อนผันหรือช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐหรือสถาบันการเงินก็ตาม ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทขนาดใหญ่อาจทำได้มากกว่าและยังมีการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดที่หลากหลาย ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรงน้อยกว่า
ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กในภาพรวมยังน่าห่วง บริษัทขนาดเล็กในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบสูงสุด โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ความสามารถในการทำกำไรลดลงมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจทั้งหมด สาเหตุอาจมาจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมีความกังวลด้านสุขอนามัยค่อนข้างมาก และโรงแรมขนาดเล็กที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SHA+ ยังมีสัดส่วนน้อย อีกทั้ง นักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาเดินทางกลุ่มแรก ๆ ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง จึงทำให้อานิสงส์ตกไปสู่โรงแรม 4-5 ดาวที่เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ สอดคล้องกับบริษัทขนาดเล็กในกลุ่มร้านอาหารและอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนที่เป็นรอง อย่างไรก็ดี คาดว่าธุรกิจกลุ่มดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในปี 2021 ด้วยสถานการณ์โควิดทั้งในประเทศและทั่วโลกเริ่มคลี่คลายทำให้หลายประเทศประกาศเปิดประเทศและทยอยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ แต่ธุรกิจขนาดเล็กในกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบแรงและลึกกว่าจะมีความเปราะบางและฟื้นตัวได้ช้าเพื่อให้กลับมามีความสามารถในการทำกำไรเท่าระดับก่อนการระบาด
มองไปข้างหน้าการฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง (Uneven) การช่วยเหลือที่ตรงจุดและการปรับตัวของผู้ประกอบการมีความจำเป็น
มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยยังคงมีความท้าทายจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังสูง และไม่ทั่วถึง (Uneven) โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวของการบริโภคหรือสอดรับเทรนด์โลกหรือเกี่ยวข้องการลงทุนใน Mega project ขณะที่บางธุรกิจมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือได้รับผลกระทบจาก Mega trends เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีนวัตกรรม และสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ความช่วยเหลือพิเศษจากภาครัฐ และการปรับตัวอย่างเหมาะสมยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อการประคองบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ นโยบายภาครัฐควรมุ่งเน้น
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจ
จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักตามการปิดเมืองและการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ หลายบริษัทต้องประสบปัญหาและปิดตัวลงทำให้แรงงานต้องตกงานเป็นจำนวนมากจนทำให้อัตราการว่างงานไทยเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยช่วงก่อนการระบาดโควิด ที่ราว 1% สูงสุด 2.3% ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดจะเริ่มคลี่คลายและมาตรการควบคุมโรคจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง (Uneven) ในมิติประเภทธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวการบริโภคหรือสอดรับเทรนด์โลกจะฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนบางกลุ่มธุรกิจก็ยังมีความเสี่ยงและฟื้นตัวช้าเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปีนี้ หรือ Mega trends ที่เปลี่ยนไป เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีนวัตกรรม และสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในมิติขนาดของธุรกิจจะพบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีโอกาสได้รับผลกระทบที่หนักกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ งานศึกษานี้สนใจวิเคราะห์ภาพรวมและแนวโน้มของการฟื้นตัวภาคธุรกิจโดยคำนึงถึงความแตกต่างของประเภทและขนาดธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการปรับตัวของธุรกิจ รวมถึงนัยเชิงนโยบายภาครัฐที่เหมาะสมในระยะต่อไปการลดค่าใช้จ่าย พร้อมเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในภาคบริการ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า อาทิ
(1) มาตรการช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการ ในระยะสั้นภาครัฐควรมีมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานและค่าจ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อให้ธุรกิจยังอยู่รอดได้ ในระยะยาวควรให้ความรู้ในการวางแผนจัดการต้นทุนของธุรกิจและส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy efficiency)
(2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้นแทนมาตรการแบบหน้ากระดาน เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟสต่อไปที่อาจให้การอุดหนุนโรงแรมขนาดเล็กมากกว่า หรือมาตรการช้อปดีมีคืนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้บริโภคมากกว่าสำหรับการใช้จ่ายจากสินค้าและบริการธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้ประกอบการควรจะเข้าใจถึงปัญหาและให้ความสำคัญต่อการปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปเช่นกัน โดยควรคำนึงถึงปัจจัยดังนี้ (1) รักษาเสถียรภาพของธุรกิจควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง (Maintain viability & risk management) โดยเน้นดูแลงบการเงิน ผ่านการลดต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นและลดผลกระทบจากความผันผวนของต้นทุน (2) เน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Customer centric) จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยอาจใช้ Data analytics เพื่อติดตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป (3) ปรับโมเดลในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (Business transformation) ตามพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาวะตลาด เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพารายได้ทางเดียวและเพิ่มโอกาสเติบโตระยะยาว และ (4) ลงทุนเพื่ออนาคต (Invest for the future) ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลงทุนแผน Retrain และ Reskill พนักงานเพื่อเพิ่ม Productivity เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนปรับลดลงได้ในระยะยาวและให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจ
จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักตามการปิดเมืองและการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ หลายบริษัทต้องประสบปัญหาและปิดตัวลงทำให้แรงงานต้องตกงานเป็นจำนวนมากจนทำให้อัตราการว่างงานไทยเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยช่วงก่อนการระบาดโควิด ที่ราว 1% สูงสุด 2.3% ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดจะเริ่มคลี่คลายและมาตรการควบคุมโรคจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง (Uneven) ในมิติประเภทธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวการบริโภคหรือสอดรับเทรนด์โลกจะฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนบางกลุ่มธุรกิจก็ยังมีความเสี่ยงและฟื้นตัวช้าเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปีนี้ หรือ Mega trends ที่เปลี่ยนไป เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีนวัตกรรม และสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในมิติขนาดของธุรกิจจะพบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีโอกาสได้รับผลกระทบที่หนักกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและยังจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ งานศึกษานี้สนใจวิเคราะห์ภาพรวมและแนวโน้มของการฟื้นตัวภาคธุรกิจโดยคำนึงถึงความแตกต่างของประเภทและขนาดธุรกิจ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการปรับตัวของธุรกิจ รวมถึงนัยเชิงนโยบายภาครัฐที่เหมาะสมในระยะต่อไป
ภาพรวมผลกระทบวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจ
งานศึกษานี้ SCB EIC ใช้ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในไทยจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตามรายงานงบการเงินช่วงปี 2017 ถึง 2021 โดยมีจำนวนบริษัทที่มีข้อมูลเพียงพอตลอดช่วงเวลาที่ศึกษาราว 1.1 แสนราย ประกอบด้วยธุรกิจขนาดเล็ก1มากถึง 70.4% และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก (Wholesale and Retail) ถึง 38.8% ของจำนวนตัวอย่างบริษัททั้งหมด (รูปที่ 1) งานศึกษานี้ประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจใน 2 มิติคือ ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องของบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงวิกฤตโควิดผ่านข้อมูลงบการเงิน โดย (1) Return on Equity (ROE) คำนวณจากสัดส่วนกำไรสุทธิ (Net profit) ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) เพื่อวัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและ (2) สัดส่วนของบริษัทผีดิบ (Zombie firm) โดยนิยามบริษัทที่มีอายุมากกว่า 10 ปีและมีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio: ICR) ต่ำกว่า 1 เป็นเวลานานกว่า 3 ปีติดต่อกันเพื่อบ่งชี้ถึงบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่องต่อเนื่อง
รูปที่ 1 : ภาคธุรกิจไทยมีสัดส่วนบริษัทขนาดเล็กมากถึง 70% และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าส่งค้าปลีก
หมายเหตุ : *ปี 2021 มีจำนวนบริษัทที่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทั้งสิ้น 1.1 แสนบริษัท
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ผลการวิเคราะห์พบว่าค่ากลาง (Median)2 ROE ของตัวอย่างบริษัทที่นำมาศึกษาปรับลดลงจากค่ากลางเฉลี่ยช่วง 3 ปีก่อนเกิดการระบาดโควิด (ปี 2017-2019) ที่ 8.2% มาอยู่จุดต่ำสุด ณ ปี 2020 ที่ 5.4% ก่อนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2021 ที่ 5.8% (รูปที่ 2 ซ้าย) ในขณะที่สัดส่วน Zombie firm เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 7% จากค่าเฉลี่ย Pre-COVID ที่ 5.7%3 (รูปที่ 2 ขวา) สะท้อนภาพรวมของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากทั้งมิติความสามารถในการทำกำไรและปัญหาสภาพคล่อง จึงยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เท่าระดับก่อนการระบาด
รูปที่ 2 : ภาคธุรกิจไทยมีความสามารถในการทำกำไรลดลงในช่วงโควิด และมีปัญหาสภาพคล่องสูงขึ้นมาก
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ธุรกิจกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารมีความสามารถในการทำกำไรลดลงและมีปัญหาสภาพคล่องมากที่สุด
ในปี 2021 แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจในภาพรวมจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด อีกทั้ง ยังประสบปัญหาด้านสภาพคล่องมากขึ้น หากพิจารณาแยกตามประเภทธุรกิจจะพบว่า แต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบแตกต่างกัน โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการมีทิศทางการฟื้นตัวที่แตกต่างจากภาพรวมของภาคธุรกิจ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงในปี 2020 ต่อเนื่องมา ซึ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองและเข้มงวดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ความสามารถในการทำกำไรในปี 2021 ลดลงจากปี 2020 อย่างเห็นได้ชัดสะท้อนจากค่าเฉลี่ย ROE กลุ่มธุรกิจโรงแรมในปี 2021 ที่ลดลงมากถึง -16.5% จาก -12.7% ในปี 2020 (รูปที่ 3) รวมถึงกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่หดตัว -1.6% ในปี 2021 จาก 0.28% ในปี 2020 สะท้อนการฟื้นตัวที่อาจเริ่มต้นช้ากว่าธุรกิจประเภทอื่นและใช้เวลามากกว่า สอดคล้องกับข้อมูล Zombie firm ที่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องสูงและเพิ่มขึ้นมากกว่าธุรกิจกลุ่มอื่น โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมมีสัดส่วน Zombie firm ณ ปี 2021 เพิ่มขึ้นสูงสุด 8pp (Percentage point) เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด (รูปที่ 4)
รูปที่ 3 : ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในภาพรวมเริ่มฟื้นตัวในปี 2021 ยกเว้นธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
รูปที่ 4 : ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหารประสบปัญหาขาดสภาพคล่องสูงขึ้นมาก
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดรุนแรงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่มาก
ผลกระทบมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก มีความสามารถในการทำกำไรลดลงต่อเนื่องชัดเจน สะท้อนจาก ROE ในปี 2021 ที่ลดลงมากถึง 3pp เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาด ขณะที่ ROE ปี 2021 ของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2020 โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ ROE ฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วง Pre-COVID แล้ว (รูปที่ 5) สอดคล้องกับการวิเคราะห์สัดส่วนบริษัท Zombie ที่ในปี 2021 บริษัทขนาดเล็กมีสัดส่วน Zombie firm เพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 1.5pp เทียบกับค่าเฉลี่ยก่อนโควิด (รูปที่ 6) จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะพิจารณาด้านกำไรหรือสภาพคล่อง บริษัทขนาดเล็กในภาพรวมได้รับผลกระทบที่หนักกว่าจากวิกฤตโควิด ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจมาจากข้อจำกัดในการหาเงินทุนหมุนเวียนกิจการและการเข้าถึงสินเชื่อ แม้จะได้รับการผ่อนผันหรือช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐหรือสถาบันการเงินก็ตาม ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทขนาดใหญ่อาจทำได้มากกว่าและยังมีการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดที่หลากหลาย ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรงน้อยกว่า
รูปที่ 5 : ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทขนาดเล็กยังไม่ฟื้นตัว
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
รูปที่ 6 : บริษัทขนาดเล็กประสบปัญหาด้านสภาพคล่องมากขึ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
บริษัทขนาดเล็กในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหารและอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดและยังน่าห่วง
การใช้มาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดทั้งการปิดเมืองและปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อภาคบริการมากที่สุด และขนาดของธุรกิจมีผลต่อการฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไรอย่างชัดเจน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรลดลงพร้อมทั้งยังเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่องมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ หากมองธุรกิจ 3 กลุ่มดังกล่าวลึกลงไปแยกตามขนาดของธุรกิจพบว่า ในภาพรวมบริษัทขนาดเล็กในกลุ่มธุรกิจทั้ง 3 ประเภทนี้มี ROE ลดลงมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่
ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบสูงสุด สะท้อนจาก ROE ลดลงในทุกขนาดธุรกิจ จากที่เคยมี ROE เป็นบวกในช่วงก่อนการระบาดโควิดกลับลดลงจนติดลบในปี 2020 และลดลงต่อเนื่องในปี 2021 โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ ROE ลดลงมากถึงระดับเกือบ -20% ในปี 2021 สาเหตุที่ทำให้โรงแรมขนาดเล็กได้รับผลกระทบที่สูงกว่าโรงแรมขนาดกลางและขนาดใหญ่อาจมาจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมีความกังวลด้านสุขอนามัยอยู่ค่อนข้างมากและโรงแรมขนาดเล็กที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SHA+ ยังมีสัดส่วนน้อย อีกทั้ง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกลุ่มแรก ๆ ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อจึงทำให้อานิสงส์ตกไปสู่โรงแรม 4-5 ดาวที่เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาการจัดโปรโมชั่นลดราคาห้องพักตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐหรือตามกลยุทธ์การตลาดของโรงแรม 4-5 ดาวสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัดเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2022 คาดว่าธุรกิจโรงแรมในทุกขนาดธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในปี 2021 ด้วยสถานการณ์โควิดทั้งในประเทศและทั่วโลกเริ่มคลี่คลายประเทศส่วนมากประกาศเปิดประเทศและทยอยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้จำนวนนักท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้นและธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
บริษัทขนาดเล็กในกลุ่มร้านอาหารและอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่เช่นกัน สอดคล้องกับภาพธุรกิจโรงแรม สะท้อนจาก ROE ที่ลดลงจนติดลบในปี 2021 โดยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2021 สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังรุนแรงทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องชะลอการเปิดโครงการใหม่จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงมาก โดยบริษัทขนาดเล็กนอกจากต้องเผชิญกับปัญหาด้านความสามารถที่ลดต่ำลงอีก จากทั้งที่ต้องชะลอการเปิดโครงการเกือบทั้งหมดแล้ว ยังไม่สามารถทำโปรโมชั่นลดราคาเพื่อระบายสินค้าคงเหลือ (ระบายสต็อก) สู้กับบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดกลางได้ เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนที่เป็นรอง ทำให้ไม่สามารถลดราคาลงได้มากนัก หากยังต้องการรักษาอัตรากำไรจากการขาย ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ขนาดกลางสามารถลดราคาลงได้มากกว่า หรือสามารถยอมขาดทุนจากการขายได้บ้างเพื่อแลกกระแสเงินสดที่กลับเข้ามามาก รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อแบรนด์หรือสินค้าที่มีน้อยกว่า ทำให้ต้องเจอกับปัญหาด้านกระแสเงินสด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านการชำระหนี้ต่อไปด้วย อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่าร้านอาหารขนาดกลางกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากการปรับตัวของร้านอาหารขนาดกลางทำได้ดีกว่าจากการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้นและเข้าร่วมกับ Platform delivery ที่ต้นทุนไม่สูงเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ (รูปที่ 7)
รูปที่ 7 : กลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงวิกฤตโควิด
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
การฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยและความท้าทาย
ในปี 2022 ภาคธุรกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดหลังสถานการณ์โควิด ที่ดีขึ้นเป็นลำดับและการยกเลิกมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้น จำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2021 รวมถึงมูลค่าขนาดทุนจดทะเบียนใหม่ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาประเภทธุรกิจยังพบว่า ภาคบริการโดยเฉพาะโรงแรมยังคงมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่อยู่ในระดับต่ำและการจ้างงานที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ (รูปที่ 8-10)
มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยยังคงเปราะบางจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังสูงและไม่ทั่วถึง (Uneven) โดยยังมีความเสี่ยงจากทั้งต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นจากแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อธุรกิจที่พึ่งพาภาคการส่งออก รวมถึงความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกยังอยู่ในระดับสูงและผันผวนมากขึ้น และปัญหา Supply chain disruption คลี่คลายได้ช้าลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดโควิด ที่ดีขึ้นและการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคจะเป็นโอกาสที่ทำให้ภาคธุรกิจของไทยฟื้นตัวได้ กอปรกับได้ Pent-up demand โดยเฉพาะในกลุ่มกำลังซื้อสูง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการฟื้นตัว อีกทั้ง ภาครัฐที่ยังเดินหน้าในโครงการลงทุน Mega project โดยเฉพาะโครงการด้านคมนาคม โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวของการบริโภคหรือสอดรับเทรนด์โลกหรือเกี่ยวข้องการลงทุน Mega project ขณะที่บางธุรกิจมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือได้รับผลกระทบจาก Mega trends เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีนวัตกรรม และสังคมผู้สูงอายุ (รูปที่ 11) ในขณะที่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจกำลังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป บริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดที่แรงและลึกกว่า จะยิ่งมีความเปราะบางและฟื้นตัวได้ช้า โดยถึงแม้ลักษณะโครงสร้างของบริษัทขนาดเล็กจะมีความซับซ้อนน้อยกว่าเอื้อต่อการปรับตัวได้ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่ข้อจำกัดในการหาเงินทุนหมุนเวียนกิจการและการเข้าถึงสินเชื่ออาจมีน้อยกว่า ทำให้ความช่วยเหลือพิเศษจากภาครัฐและการปรับตัวอย่างเหมาะสมยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อการประคองบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้
รูปที่ 8 : ภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ปรับตัวดีขึ้น
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
รูปที่ 9 : การจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ในกลุ่มโรงแรมยังต่ำกว่าระดับ Pre-COVID มาก
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
รูปที่ 10 : การจ้างงานลูกจ้างเอกชนภาพรวมยังต่ำกว่า Pre-COVID โดยเฉพาะภาคบริการ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
รูปที่ 11 : แนวโน้มธุรกิจในปีในระยะต่อไป โอกาสและความท้าทาย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
นัยต่อนโยบายภาครัฐและการปรับตัวของธุรกิจ
ที่ผ่านมาภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงวิกฤตโควิด ทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft loan) และช่วยเหลือลูกหนี้ แต่มาตรการดังกล่าวกำลังจะทยอยหมดไปในปี 2023 ในระยะข้างหน้า นโยบายภาครัฐจึงควรปรับเปลี่ยนเพื่อเน้นแก้ไขปัญหาตรงจุดมากขึ้น เนื่องจากบริษัทบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นปกติมากขึ้นและรายได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยนโยบายภาครัฐควรมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายพร้อมเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในภาคบริการและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า ผ่านตัวอย่างมาตรการดังนี้
(1) มาตรการช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนจากราคาพลังงานที่ผันผวนและยังคงมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ประกอบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นและการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ โดยในระยะสั้นภาครัฐควรมีมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานและค่าจ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อให้ธุรกิจยังอยู่รอดได้ ในระยะยาวควรให้ความรู้การวางแผนจัดการต้นทุนของธุรกิจและส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy efficiency) ผ่านแรงจูงใจภาษีรวมถึงการอุดหนุนทางการเงินเพื่อเร่งให้มีการตัดสินใจลงทุนและเกิดการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
(2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้นแทนมาตรการแบบหน้ากระดานให้สอดคล้องกับงบประมาณกระตุ้นการใช้จ่ายที่ลดลงตาม พ.ร.ก กู้เงินฉุกเฉินจากโควิดที่หมดไป เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันในเฟสต่อไปที่ยังควรถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมและภาคบริการ แต่อาจให้การอุดหนุนที่มากกว่าสำหรับโรงแรมขนาดเล็ก หรือมาตรการให้ค่าซื้อสินค้าหรือบริการสามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ช้อปดีมีคืน ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้บริโภคมากกว่าสำหรับการใช้จ่ายจากสินค้าและบริการธุรกิจขนาดเล็ก
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญนอกเหนือจากความช่วยเหลือจากภาครัฐที่กล่ามา ผู้ประกอบการควรจะเข้าใจถึงปัญหา และให้ความสำคัญต่อการปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปเช่นกัน โดยคำนึงถึงปัจจัยดังนี้
(1) รักษาเสถียรภาพของธุรกิจควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง (Maintain viability & risk management) โดยเน้นดูแลงบการเงิน ผ่านการลดต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นและลดผลกระทบจากความผันผวนของต้นทุน อย่างเช่น ปรับปรุงกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร และเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจให้สามารถปรับตัวหลังพ้นวิกฤติได้รวดเร็ว
(2) เน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Customer centric) จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยอาจใช้ Data analytics เพื่อติดตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หรือสร้าง Customer journey โดยคำนึงถึง New normal requirement และพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าหรือแก้ไข Pain points ของลูกค้า อย่างเช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในภาวะสินค้ามีราคาแพงโดยเน้น Best value for money
(3) ปรับโมเดลในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (Business transformation) ตามพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาวะตลาด อาทิ ปรับโมเดลการขาย Direct-to-consumer, Subscription model, As-a-service model รวมถึงการขยายโอกาสไปในธุรกิจด้านอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพารายได้ทางเดียวและเพิ่มโอกาสเติบโตระยะยาว
(4) ลงทุนเพื่ออนาคต (Invest for the future) ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (เช่น AI automation) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การวิจัยพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตลาดและแก้ไขปัญหาด้านการผลิต เช่น พัฒนาสินค้าที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิต และลงทุนแผน Retrain และ Reskill-Upskill พนักงานเพื่อเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการทำธุรกิจโดยรวมปรับลดลงได้ในระยะยาวและสอดรับกับเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/business-recovery-050123
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ปางอุบล อำนวยสิทธิ์ (pangubon.amnueysit@scb.co.th) Senior strategic management associate ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กรธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักวิเคราะห์
ข่าวเด่น