ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (09 – 13 ม.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบผันผวนในกรอบที่ลดลง หลังดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐฯ จีนและญี่ปุ่นออกมาต่ำกว่า 50 ในเดือนที่ผ่านมา แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก ในขณะที่อุณหภูมิแถบยุโรปที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นในสัปดาห์หน้า อาจส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติ (gas-to-oil switching) ลดลง นอกจากนี้ ตลาดจับตามาตรการต่าง ๆ ที่หลายประเทศทั่วโลกอาจออกมาควบคุมผู้เดินทางจากจีน หลังจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 ม.ค. 66 ทั้งนี้เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนยังคงรุนแรง ส่งผลให้อุปสงค์การใช้น้ำมันเผชิญความไม่แน่นอน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
สหรัฐฯ ประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (PMI) ประจำเดือน ธ.ค. 65 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 46.2 ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.7 ขณะที่ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตของจีนและญี่ปุ่น เดือน ธ.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 47.0 และ 48.9 ซึ่งต่ำกว่า 50 เช่นเดียวกัน สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ทำให้ตลาดกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกชะลอตัวลง
ยุโรปเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในฤดูหนาว จากคลื่นความร้อน โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าอุณหภูมิที่เมืองวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ นั้นสูงถึง 18.9 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิในบางภูมิภาคของสเปนแตะระดับ 25.1 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันราว 10 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศในประเทศเนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และเยอรมัน ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นเดียวกัน โดยอุณหภูมิที่อุ่นกว่าปกติ ส่งผลกดดันต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติ (Gas-to-oil Switching)
สหภาพยุโรปหรืออียู (EU) เตรียมพิจารณาออกมาตรการควบคุมนักเดินทางจีน หลังประเทศในกลุ่มสมาชิกนำโดยฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี รวมถึงประเทศนอกกลุ่ม อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวันและโมร็อกโก ที่กำหนดให้ผู้เดินทางมาจากประเทศจีนนับตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค ต้องแสดงผลการตรวจโควิดเป็นลบก่อนเดินทางเข้าประเทศ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังมีรายงานว่าโรงพยาบาลซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยมีไม่เพียงพอ ท่ามกลางความกังวลว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงานต่ำกว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2566 ประจำเดือน ธ.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 89.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 4.5 % จากการคาดการณ์ในรอบก่อนหน้าในเดือน พ.ย. 65 ที่ 93.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปัจจัยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกดดันต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก
บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 65 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 779 แท่น โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ในปี 2565 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 193 แท่น
เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค. 65 ของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากเดือนหน้า และตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือน ธ.ค. 65
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 ม.ค. – 6 ม.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 6.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 7.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจีนประกาศโควตาการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปครั้งล่าสุดปริมาณ 19 ล้านตันสำหรับน้ำมันเบนซิน, ดีเซล และอากาศยาน ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 46 % และอีก 8 ล้านตันสำหรับน้ำมันเตา ส่งผลให้ตลาดคาดว่าอาจป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ขณะที่ตลาดยังคงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 หลังนางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ, ยุโรปและจีนมีแนวโน้มที่จะเผชิญความยากลำบากขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากรายงานสต๊อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ธ.ค. 65 ซึ่งปรับลดลง 0.3 และ 1.4 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ
ข่าวเด่น