การค้า-อุตสาหกรรม
Isan BCG Forum 2022 ถกถึงแก่น วิเคราะห์ผ่าแนวคิด หลากมุมมองดันธุรกิจสู่ BCG Model


จังหวัดขอนแก่น ศูนย์กลางการคมนาคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS โดยขอนแก่นกำลังเดินหน้าเป็นผู้นำด้าน BCG (Bio, Circular, Green Economy) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งขอนแก่นจัดเป็นต้นแบบแห่งเมืองนวัตกรรมสร้างสรรค์ โดยมีความพร้อมทั้งทางเศรษฐกิจ การคมนาคม ทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงได้รับการรับรองว่าเป็นเมือง MICE City และ Smart City พร้อมยกระดับสู่อุตสาหกรรม BCG ของไทยและเอเชียได้ในอนาคต

 
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการร่วมมือกันของภาคเอกชน นำโดย Khon Kaen Innovation Centre (KKIC) และกลุ่มมิตรผล ร่วมกับ 50 เครือข่ายพันธมิตร ภาครัฐและภาคเอกชน ธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงาน ‘Isan BCG Expo 2022’ งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้รวบรวมผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย BCG Model มาจัดแสดงสินค้านวัตกรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน รวมไปถึงการต่อยอดทางธุรกิจ (Business Matching) และยังจัดให้มีงานเสวนาครั้งสำคัญ “Isan BCG Forum 2022” International Forum ซึ่งได้รับเกียรติจาก Speaker ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแวดวง มาแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดที่น่าสนใจภายใต้ BCG Model แบบถึงแก่น กว่า 80 ท่าน มากถึง 40 Session ด้วยกัน โดยมีไฮไลท์ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ
 
 
 
Khon Kaen 2030 เจาะมุมมองการพัฒนาเมืองขอนแก่น
 
 
ขอนแก่นมีความพร้อมและมีศักยภาพในทุกด้าน เช่น ขอนแก่นเป็น 1 ใน 7 จังหวัดของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Smart City ในชุดแรก และเป็น 1 ใน 5 จังหวัด ที่ได้รับการเลือกให้เป็น MICE City เมืองแห่งศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศ ศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่ง ศูนย์กลางการศึกษา เป็นต้น การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานกรรมการ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด, คุณชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น, ดร.ทวีสันต์ วิชัยวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และ คุณธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น โดยมี คุณกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยวาระนี้ได้กล่าวถึงการวางแผนให้ขอนแก่นเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตร พัฒนารายได้ให้ชาวขอนแก่นอย่างยั่งยืน
 
 
ภาคอีสาน 20 จังหวัด มีรายได้มาจากภาคบริการ 60% ภาคอุตสาหกรรม 30% และภาคการเกษตรเพียง 10% แต่ในทางกลับกันอีสานมีพื้นที่การเกษตรและมีประชากรที่อยู่ในภาคการเกษตรมากที่สุดในประเทศไทย ดังนั้นทำอย่างไรให้คนหมู่มากมีรายได้มากขึ้น โดยใช้พื้นที่การเกษตรสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในวันนี้ขอนแก่นต้องวางแผนขอนแก่น 2030 โดยมีกลุ่มเอกชนเป็นผู้ริเริ่มเดินหน้า BCG Model และขอกำลังสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงสร้างชุดความคิดและคนที่อยากร่วมกันทำอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ สามารถส่งต่อได้และไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมขับเคลื่อนด้วยเครื่องมือและทรัพยากรใหม่ ๆ เพิ่มผลผลิต เครื่องมือ และเพิ่มความสามารถของเกษตรกรไทย
 
 
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นได้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมเพื่อหนุนคนขอนแก่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่าภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่สามารถเติบโตได้รวดเร็วที่สุด การใช้นโยบาย BCG ในการพัฒนาอุตสาหกรรมขอนแก่น ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว และบริการ ถือเป็นเปิดโอกาสให้ทุกคนก้าวให้ทันโลกและมีโอกาสเชื่อมโยงตลาดโลกได้ เพราะหลังจากนี้ทั่วโลกจะทำธุรกิจโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG (Environment, Social และ Governance) โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ธนาคารต่าง ๆ ยังมีการทำ Green Finance เพื่อให้การสนับสนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสีเขียวที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการนำ BCG Model มาใช้ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นจุดแข็งที่จะสร้างขอนแก่นให้เป็นต้นแบบแห่งเมืองนวัตกรรมสร้างสรรค์ในปี 2030

ทิศทาง Energy Technology สู่การเป็น Smart City
 
เทรนด์พลังงานสะอาดเป็นกระแสที่มาแรงทั่วโลก โดยทุกคนมุ่งหน้าสู่ Green Energy และมีการพูดถึง Energy Sustainability และ Energy Security มากขึ้น “บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้ BCG Model ช่วยผลักดันให้เกิดพลังงานสีเขียวให้กับโลก
 
 
 
คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า “นโยบาย BCG ของประเทศไทยจึงเป็นนโยบายที่ช่วยส่งเสริมในด้าน Green Energy โดยใช้ทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ มาช่วยนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนให้ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยบ้านปู เน็กซ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งดำเนินธุรกิจในเรื่องพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไร้ขีดจำกัด เรามองตัวเองเป็น Integrated Energy Provider ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสีเขียวทั้งหมด และยังเป็น One Stop Shop ของ Green Energy อีกด้วย การที่เรามีโซลูชันต่าง ๆ เป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ทำให้เราสามารถเปลี่ยน Business Model เป็น Smart Business ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้เกิด Smart City ได้
 
 
สำหรับ Smart City เป็นเทรนด์ของโลกที่โตขึ้นเรื่อย ๆ และถือเป็นส่วนหนึ่งในกรอบของ BCG Model ซึ่งเทรนด์ในอนาคตจะไปทางเกษตรกรรม Building Management โดยมีการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มจะเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งบ้านปู เน็กซ์ ก็ความภูมิใจที่เป็นบริษัทหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการนำประเทศไทยไปสู่ BCG Model มากขึ้น เราอยากช่วยให้ลูกค้าทำธุรกิจได้ดีขึ้น และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี พร้อมทั้งช่วยผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ Green Energy และ Sustainability ได้มากขึ้น”

 
 
 
‘Food and Wellness Tourism’
 
การเสวนาที่กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้าง สุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรรมการผู้จัดการสวนสามพราน คุณไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ Executive Chef ร้านอาหาร Casual Fine Dining และคุณกรด โรจนเสถียร ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชีวาศรม ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ประธานกรรมการบริหาร โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร
 
 
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งเสริมทางด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและมีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านอาหารมาโดยตลอด โดยหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 อาหารเพื่อสุขภาพก็กลายเป็นกระแสนิยมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กระแส Wellness Tourism ยังเป็นที่น่าจับตามอง ส่งผลให้อุตสาหกรรม Wellness มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
 
Wellness Tourism คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักสุขภาพ โดยเน้นทางศาสตร์การป้องกัน ดังนั้นอาหารจึงเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยอาหารที่อยู่ใน Wellness Industry ควรเป็น Personalized มากขึ้น ซึ่งการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น และวัตถุดิบออร์แกนิก มารังสรรค์เมนูนานาชาติ เป็นไปตามรูปแบบของ BCG Model นอกจากได้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพแล้ว ยังส่งผลไปสู่เกษตรกรท้องถิ่น และมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนฟรุตพริ้นท์จากการขนส่งวัตถุดิบอาหารนำเข้าได้
 
 
ในส่วนของอุตสาหกรรม Wellness หลายๆ ประเทศเริ่มจับตามองกันมาขึ้น โดยเห็นว่าธุรกิจ Food and Wellness เป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่ง GDP ของกลุ่ม Wellness ในประเทศไทยมีการเติบโตสูงถึง 9.9% ซึ่งสูงกว่า GDP ของโลกที่วางไว้เพียง 7.3% ดังนั้นประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางด้าน Wellness โดยใช้ BCG Model สร้างอัตลักษณ์ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน และช่วยกันสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง Wellness ของโลกในอนาคต ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

‘The Real Sustainable Community หรือ ความยั่งยืนที่แท้จริงของชุมชน’
 
เจาะมุมมอง 3 องค์กรใหญ่ในการสร้างชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดหลักคือการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขทั้งในส่วนของสังคมและสิ่งแวดล้อมภายในชุมขน นอกจากนี้ยังสนับสนุนและผลักดันให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้ชุมชนยืนได้ด้วยขาตัวเอง โดยใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือเศรษฐกิจพอเพียง
 
 
คุณวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผลทำงานร่วมกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยมายาวนาน โดยมีปรัชญา “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ซึ่งมิตรผลให้ความสำคัญทั้งในกลุ่มเกษตรกรชาวไร่และชุมชนโดยรอบ การสร้างชุมชนให้ยั่งยืนไม่ใช่การให้ทุกอย่างที่ชุมชนต้องการ แต่เราต้องตามหาความต้องการที่แท้จริงของชุมชน และมีการ Collaboration กับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรและชุมชนให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน”
 
 
นอกจากนี้การบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติภายในชุมชนยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยองค์กรต้องไม่สร้างผลกระทบ มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำมาใช้ซ้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบันการทำธุรกิจไม่ได้มองในเรื่องของผลกำไร เพื่อตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นอีกต่อไป แต่ต้องดำเนินธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จึงหมายถึงการสร้างสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาภายในชุมชนอย่างยั่งยืน
 

 
 
‘Bangkok Bastards’ สถาปัตยกรรมสารเลว
 
 
การออกแบบสถาปัตยกรรมบนแนวคิดที่สอดคล้องรูปแบบของ BCG Model
คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล ผู้ก่อตั้ง CHAT Architects กล่าวว่า “สถาปัตยกรรมสารเลว นำสิ่งที่บางคนคิดว่าเป็นขยะ สลัม หรือสิ่งที่รกตา แต่ผมเห็นถึงความสวยงามผ่านคิดสร้างสรรค์ที่ปรากฏกายผ่านความรก เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีความน่าสนใจ มีความบริสุทธิ์ นี่คือชีวิตประจำวันของคนในชุมชน โดยผมได้เข้าไปทำงานวิจัยมากว่า 10 ปี และเริ่มเข้าใจว่าขยะเหล่านี้มีที่มาที่ไป เช่น นั่งร้านในแคมป์คนงานก่อสร้าง เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ของเขา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ เขาได้สร้างระบบในการแก้ปัญหา สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยน่าอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของ BCG ที่นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาให้เกิดความเจริญในชุมชนอย่างยั่งยืน”

Changing the World with World Class Design
 
การเสวนาของ 4 กูรูชั้นนำด้านการผลิตและออกแบบ ได้แก่ คุณอมรเทพ คัชชานนท์ นักออกแบบ และ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ AmoArte ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อโยธยาเทรด (93) จำกัด และ ผู้ก่อตั้ง แบรนด์ Ayodhya คุณจิรพรรณ โตคีรี นักออกแบบ และ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Touchable และ คุณกรกต อารมณ์ดี ผู้อำนวยการออกแบบ และ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Korakot รวมถึงเป็นสมาชิก The Design & Objects Association กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนด้านการออกแบบของดีไซน์เนอร์เจ้าของแบรนด์ไทย ความเป็นเอกลักษณ์สามารถยกระดับต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน ตามรูปแบบของ BCG Model ดำเนินรายการโดย คุณทรงพล เนรกัณฐี นักรังสรรค์แบรนด์และนักการตลาดเชิงกลยุทธ์
 
 
การนำวัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นที่เหลือใช้ไม่มีใครต้องการ มาดีไซน์และเล่าเรื่องราวความเป็นอีสาน สามารถนำมาต่อยอดจาก Local สู่ Global สร้างมูลค่ามหาศาล ให้กลุ่มนักออกแบบและชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มธุรกิจนักออกแบบได้เข้าไปปลุกความรู้ความชำนาญของคนในท้องถิ่น แล้วเปลี่ยนทักษะให้กลายเป็นความร่วมสมัย ผสมผสานกับความรู้ทางด้านดีไซน์ของนักออกแบบ บวกกับการนำการตลาดเข้ามาสร้างมูลค่าให้สินค้า รวมถึงสร้างมาตรฐานการผลิตหัตถกรรมขึ้นมาใหม่ เพื่อผลักดันสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก และสร้างรากฐานเศรษฐกิจอันยั่งยืนให้กับชุมชน

“BCG Heroes: Be the Change”
 
มุมมองการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิด BCG โดยตัวแทนจากกลุ่ม ‘BCG Heroes’ ซึ่งเป็นโครงการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การเสวนานี้ นำโดย คุณประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรม และ สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คุณจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ นักวิจัยและพัฒนา DEESAWAT Industries Co., Ltd. คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการออกแบบ และ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Qualy และ คุณศรุตา เกียรติภาคภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิน เมททัล อาร์ต จำกัด
 
 
การนำเศษวัสดุเหลือใช้มาสร้างความคุ้มค่าและเพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวคิด BCG Model ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดต่างประเทศกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยได้ประกาศนโยบายการขับเคลื่อน BCG เพื่อหนุนภาคการเกษตรและกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP เป็นอีกหนึ่งหน่วยการที่มีส่วนในการผลักดันและสนับสนุน BCG Model โดยเปิดเผยถึงโครงการ BCG HEROES และภารกิจสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 2.ส่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และ 3.การขยายช่องทางการตลาด
 
คุณประอรนุช ประนุช กล่าวว่า “BCG Heroes เป็นหนึ่งในภารกิจที่เราขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมองในเรื่อง Sustainability ซึ่งตอนนี้ตลาดโลกมองในเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แม้แต่การใช้แรงงานที่เป็นธรรม โดยในส่วนของ BCG Model เรานำดีไซน์เนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านตลาดต่างประเทศเข้าไปช่วยแนะนำและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่ม Value Added ขึ้นมาซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 นอกจากนี้ในปีพ.ศ. 2558 ยังมีการนำดีไซเนอร์เข้ามามองหา Waste เศษวัสดุจากการเกษตรมาทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ อีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการที่มีการดำเนินงานตามรูปแบบของ BCG Model เข้ามาร่วมโครงการ จนเป็นที่มาของ 50 BCG HEROES ในที่สุด”

Isan BCG Forum 2022 เป็นเวทีที่ช่วยสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง BCG ได้แบบถึงแก่น โดยกลุ่มผู้ประกอบที่เข้ามาแลกเปลี่ยนแนวคิดในการสร้างธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในภาคอีสาน สามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้ และต่อยอดธุรกิจเติบโตได้ในอนาคต

LastUpdate 10/01/2566 21:00:11 โดย : Admin
22-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 22, 2025, 2:43 pm