การค้า-อุตสาหกรรม
ศกอ.สุราษฎร์ธานี เลี้ยงโคขุน สินค้าเกษตรทางเลือกที่มีศักยภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้


 
นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “โคขุน” นับเป็นสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างรายได้ดีให้เกษตรกร ปัจจุบันเกษตรกรนิยมเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมจากการทำการเกษตรเป็นหลัก โดยในปี 2565 (ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ เดือนธันวาคม 2565) พบว่า พื้นที่การเลี้ยงครอบคลุมทั้ง 19 อำเภอ พบการเลี้ยงมากที่สุดในอำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอไชยา โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 200 ราย จำนวนโคขุนรวมทั้งจังหวัด 866 ตัว

 
 
จากการลงพื้นที่ของ สศท.8 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตโคขุนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ปัจจุบัน เกษตรกรมีการเลี้ยงแบบรวมกลุ่ม และเลี้ยงแบบรายเดียว ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงโคขุน คือ นายปรีชา เรืองแสง เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคขุนอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจากการสัมภาษณ์นายปรีชา บอกเล่าว่าเริ่มจากการเป็นเกษตรกรทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่ปัจจุบันราคายางพาราและปาล์มน้ำมันไม่แน่นอน ปุ๋ยราคาสูง ประกอบกับอยากมีรายได้เสริมที่สามารถสร้างอาชีพ หลังจากนั้น ได้มีโอกาสศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเลี้ยงโคขุนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำพงแสน และศึกษาจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มที่เลี้ยงจนประสบความสำเร็จ จึงได้นำความรู้จากการศึกษาดูงานมาประยุกต์ใช้กับฟาร์มของตนเอง และพัฒนาจนประสบความสำเร็จมากว่า 10 ปี

 
สำหรับการเลี้ยงโคขุน นายปรีชาจะซื้อโคที่มีอายุประมาณ 2 ปี มาขุนต่ออีกประมาณ 5-6 เดือน โดยในระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 2 รุ่น ซึ่งจะต้องให้ฟางกินก่อนในช่วงแรกประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อให้โคปรับตัว เพราะโคมาจากหลายที่ บางทีอาจจะไม่เคยกินทางปาล์มน้ำมันสับมาก่อน จากนั้นในช่วงเช้าจึงให้อาหารข้นผสมกากปาล์มน้ำมันหรือกากถั่วเหลือง วันละ 1 ครั้ง ช่วงเย็นให้กินฟางแห้งสลับกับหญ้าหรือทางปาล์มน้ำมันสับซึ่งหาได้จากในสวนของตนเองและสามารถลดต้นทุนลงได้ สำหรับในช่วง 2 เดือนก่อนขาย ในช่วงเช้าจะให้อาหารผสมข้นเพิ่มขึ้น ช่วงเย็นก็จะให้ฟางแห้งสลับกับหญ้า หรือทางปาล์มน้ำมันสับ และให้น้ำหมักผสมน้ำให้โคอาทิตย์ละ 2-3 ครั้งเพื่อลดกลิ่นในเนื้อโคได้ ในส่วนของมูลโคก็จะนำไปใส่ในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันช่วยลดค่าใช้จ่ายในสวนได้

 
 
ขณะที่ ต้นทุนในการเลี้ยงโคขุนของนายปรีชา พบว่า มีต้นทุนเฉลี่ย 41,000 บาท/ตัว แบ่งเป็น ราคาพันธุ์โคสำหรับนำไปขุนประมาณ 30,000 บาท ซึ่งพันธุ์โคของนายปรีชาจะมีอายุเฉลี่ย 2 ปี (น้ำหนัก 350 – 400 กิโลกรัม/ตัว) และเป็นต้นทุนค่าอาหาร เวชภัณฑ์และอื่นๆ อีกประมาณ 11,000 บาท โดยนายปรีชาจะเลี้ยงโคขุนให้ได้น้ำหนักตามเกณฑ์ประมาณ 400 – 600 กิโลกรัม/ตัว และจำหน่ายในราคา 55,800 บาท/ตัว (93 บาท/กิโลกรัม) หรือคิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 14,800 บาท/ตัว โดยส่วนใหญ่นายปรีชาจะจำหน่ายโคขุนให้กับให้พ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้รวบรวมทั้งในและนอกจังหวัด ซึ่งพ่อค้าคนกลางอาจจะส่งขายทั้งในประเทศหรือส่งออกต่อไปยังประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ แล้วแต่ความต้องการของตลาดและราคาที่จำหน่ายได้

 
 
 
สำหรับโคขุน ถือเป็นการเลี้ยงโคที่ยังอายุน้อยให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ โดยการให้อาหารแก่โคที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งอาหารหยาบ และอาหารข้นอย่างเต็มที่ ในสภาพการเลี้ยงแบบขังคอกอย่างเดียวหรือร่วมกับการปล่อย ซึ่งแล้วแต่การเลี้ยงของแต่ละคน โดยโรคที่ต้องระมัดระวังจะเกิดขึ้นกับโคเนื้อ ส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคทั่ว ๆ ไป อย่างเช่น โรคปากเท้าเปื่อยเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนสภาพอากาศชื้น ส่งผลให้เกิดโรคได้ง่ายโดยจะมีการรักษาด้วยการฉีดยาป้องกันทุก 6 เดือน รวมทั้งฉีดถ่ายพยาธิและให้ยาบำรุง เป็นต้น หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและเทคนิคการเลี้ยงโคขุนของนายปรีชา เรืองแสง สามารถสอบถามเพิ่มเติม โทร.086 267 9255

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ม.ค. 2566 เวลา : 13:02:12
22-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 22, 2025, 2:59 pm