กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 ย้ำ GDP โต 3.0-3.5% ตามกรอบเดิม โดยแม้จะได้แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นสูงถึง 20-25 ล้านคน ซึ่งมีแรงหนุนหลักจากจีนเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ภาคการส่งออกนั้นลดลง และต้นทุนด้านพลังงานที่อยู่ในระดับสูง เช่นค่าไฟฟ้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กกร.จึงหวังให้ภาครัฐมีมาตรการดูแลค่าไฟฟ้า เพื่อแบ่งเบาภาคเอกชน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจไทยจะได้ปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเข้าพักโรงแรมในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาเป็น 63% และมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย11.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งในปีนี้ กกร. มองว่ายอดนักท่องเที่ยวอาจเพิ่มสูงถึง 20-25 ล้านคน โดยมีปัจจัยหนุนหลักๆมาจากการที่จีนได้มีการเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีน ซึ่งมาตรการนี้ มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตถึง 5% และจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกไม่ให้ชะลอตัวลงมากเกินไป ในภาวะที่ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาพลังงานในระดับสูง และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
ส่วนความกังวลที่ว่าการไม่ขอดูผลตรวจไวรัสโควิด-19 เป็นลบจากนักท่องเที่ยวจีน อาจทำให้เชื้อไวรัสดังกล่าวกลับมาแพร่ระบาดได้นั้น ทางนายสนั่น กล่าวเสริมว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากที่ผ่านมาจีนได้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนและมีการให้ทำประกันสุขภาพก่อนเดินทางยังต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยเองก็มีความเข้มแข็งพอในแง่ของสาธารณสุขแล้ว อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนนั้น ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีการจับจ่ายใช้สอยที่มากกว่าชาติอื่นๆ เช่นนักท่องเที่ยวในฝั่งยุโรป ที่มีแนวโน้มจะใช้ชีวิตอยู่ภายในโรงแรม ไม่ค่อยได้ออกไปซื้อของ หรือชื่นชอบในการกินอาหารเท่ากับคนจีน
แต่แม้ภาคการท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจไทยก็ตาม แต่ทาง กกร. ก็ยังยืนยันว่า GDP ปี 2566 จะโต 3.0-3.5% ตามกรอบเดิม เพราะภาคการส่งออกมีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน กกร. จึงประเมินการด้วยว่า การส่งออกจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%
จากข้อกังวลดังกล่าว นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย จึงมีการชี้แจงว่า กกร.ได้มีความเห็นเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม จากการยกเลิกการผ่อนปรนเงินนำส่งกองทุน FIDF ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 0.23% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี ตามที่ได้เคยปรับลดไปช่วงก่อนหน้า โดยสมาคมธนาคารไทยยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม พร้อมทั้งจะเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ทั้งนี้จะได้มีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด
ส่วนเรื่องของต้นทุนทางด้านพลังงานที่อยู่ในระดับที่สูงอยู่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเด็นค่าไฟฟ้า (Ft) ที่ในช่วงที่ผ่านมา กกร. ได้มีข้อเสนอแนะและหารือกับรัฐบาล เพื่อหาแนวทางออกที่เหมาะสมเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของภาคเอกชน กกร. ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชน ถึงแม้ไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนโดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังหวังว่าตลอดทั้งปีนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากทุกภาคส่วน โดย กกร. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน task force ด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs วางแผนและนำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในปีนี้ โดยจะต้องวางแผนในระยะยาวให้มีความสมดุลทั้งด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ การดูแลสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขันต่อไป
นอกเหนือจากนี้ กกร.ยังมองเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับภาคเอกชนโดยเฉพาะการพัฒนา SMEs ไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยนายนิธิ ภัทรโชค ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร. ได้มีการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ กับ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ในการขับเคลื่อนโครงการ “Enhancing SMEs Capability for Competitiveness (Pilot Project)” เพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ไทย ให้แข่งขันได้ในระดับสากล โดยมุ่งเป้าเป็นโครงการต้นแบบของกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งระยะแรกจะนำร่องคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทั้งภาคการผลิต การค้าและบริการ ไม่น้อยกว่า 30 ราย เข้าร่วมโครงการ มีรูปแบบการดำเนินโครงการในลักษณะการดูแลและเร่งรัดให้ SME เติบโตอย่างรวดเร็ว (Acceleration) ผ่านระบบพี่เลี้ยง (Mentor) และผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ (Coach) อย่างใกล้ชิด โดยระหว่างการดำเนินโครงการจะมีการเก็บข้อมูลที่จำเป็นของผู้ประกอบการทั้งก่อนและหลัง เพื่อประเมินและขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ ในระยะต่อไป
ข่าวเด่น