เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ "จีนเที่ยวไทยแตะ 4.65 ล้านคน ดันต่างชาติเที่ยวไทยปี 66 ขยับเป็น 25.5 ล้านคน"


ในเดือนธ.ค. 65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในปัจจุบันลดลงเล็กน้อยที่ 34.7 จาก 35.0 ในเดือนพ.ย.65 โดยครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการครองชีพที่ยังถูกกดดันจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ดัชนี KR-ECI 3 เดือนข้างหน้าปรับขึ้นที่ 37.1 จาก 36.4 ในเดือนพ.ย.65 เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจ้างงาน


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรพบว่าร้อยละ 43.1 ระบุไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จ้างงานในองค์กร โดยสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงต้นปี 2565 ก่อนการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของไทย นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ที่อยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 27.3) รองมากังวลเกี่ยวกับการจ้างงาน/รายได้ และการกลับมาของการแพร่ระบาดของโควิด-19

การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีความเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลาย ทั้งแนวโน้มค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากการส่งผ่านราคาของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค และขีดจำกัดของมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพจากภาครัฐ ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการชะลอตัวลงของภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายผ่านมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ดัชนี KR-ECI เดือนธ.ค.65 ปรับลดเล็กน้อย ครัวเรือนไทยยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ในเดือนธ.ค.65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันยังคงมีระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ 34.7 จากในเดือนพ.ย.65 35.0 (ลดลงเล็กน้อย) สำหรับเดือนธ.ค.65 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ครัวเรือนอาจมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น อีกทั้ง ปัจจุบันการครองชีพของครัวเรือนยังได้รับแรงกดดันจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง โดยเดือนธ.ค.65 อัตราเงินเฟ้อไทยกลับมาเพิ่มขึ้นที่ 5.89%YoY หลังแผ่วต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน โดยราคาสินค้าในหมวดหมู่ผักและผลไม้ รวมถึงราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ในเดือนธ.ค.65 ประเทศไทยยังคงตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตรเป็นเดือน 7 ติดต่อกัน แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวแต่ด้วยข้อจำกัดภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงยังไม่มีแนวโน้มของการปรับราคาเพดานลงใน

ระยะสั้น เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยถูกตรึงไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยไปจนถึงช่วงต้นปี 2566 (งวดเดือนม.ค.-เม.ย.66) แต่ค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจถูกปรับขึ้นเป็น 5.33 บาทต่อหน่วยจึงอาจกดดันให้การส่งผ่านราคาของผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคมีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ดัชนี KR-ECI 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 37.1 จาก 36.4 ในเดือนพ.ย.65 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนช่วงเกิดโควิด-19 โดยระยะข้างหน้าภาวะการครองชีพครัวเรือนยังมีแรงหนุนจากการออกชุดมาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ของภาครัฐ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี “ช้อปดีมีคืน” (สำหรับการซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 66) การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การเพิ่มวงเงินใช้จ่ายให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (200 บาทสำหรับเดือนม.ค. 66) โครงการช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระครองชีพประชาชนได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ มุมมองผู้บริโภคยังได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนโดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังไทยมากกว่า 11 ล้านคน และสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้มากกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งได้หนุนให้การจ้างงานภาคบริการภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนต.ค.65 จำนวนผู้มีงานทำในกลุ่มที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้นที่ 3.09 ล้านคน (6.2%MoM) ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานในภาคการผลิตและการขายให้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สำหรับผลสำรวจเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับสถานการณ์จ้างงานในองค์กรเดือนธ.ค.65 พบว่า 43.1% ระบุไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จ้างงานในองค์กร โดยสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเดือนมี.ค.65 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของไทยที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 30.6% ขณะที่สัดส่วนการลดเวลาการทำงานนอกเวลา (OT) ลดลงมาอยู่ที่ 11.3% อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทย จึงมีสัดส่วนการชะลอรับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นที่ 23.9%

 
 
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับความกังวลต่อภาวะการครองชีพในปี 2566 พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง อาทิ เงินเฟ้อ ค่าไฟฟ้า (27.3%) รองลงมาเป็นความกังวลเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน (21.8%) ขณะที่ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาของการแพร่ระบาดโควิด-19 (18.3%) อีกทั้ง ผลสำรวจพบว่าครัวเรือนนอกพื้นที่กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนความกังวลเกี่ยวกับการแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินถึง 11.1% มากกว่าครัวเรือนในกรุงเทพมหานครที่ 1.4% ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างของรูปแบบการประกอบอาชีพของครัวเรือนในแต่ละพื้นที่

 
 
 
ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโนมฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงหนุนสำคัญ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายประการทั้งภายในและนอกประเทศที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI โดยเฉพาะการส่งผ่านราคาจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของกลุ่มธุรกิจ อีกทั้ง ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. (โดยปี 2566 คาดปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.75%) คงส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นสะท้อนผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ในเดือนม.ค. 66 ที่เริ่มปรับขึ้นของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ และกระทบต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อของครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอการเติบโตลง โดยเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปที่อาจมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค นอกจากนี้ แม้จีนมีการประกาศผ่อนคลายเกณฑ์สำหรับการเดินทางเข้าประเทศจีนให้ไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 ซึ่งแนวโน้มการเปิดประเทศที่เร็วจะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีนของไทยในระยะข้างหน้า แต่ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของการระบาดโควิดระลอกใหม่ ขณะที่การกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดยังคงต้องใช้เวลา

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (ธ.ค.65) ปรับลดเล็กน้อย ที่ 34.7 จาก 35.0 ในเดือนพ.ย.65 จากความกังวลค่าครองชีพที่สูงขณะที่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องที่ 37.1 จาก 36.4 ในเดือนพ.ย.65 ได้รับแรงหนุนจากมุมมองการจ้างงานที่ดีขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของดัชนียังเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจำกัด รวมถึงแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง

LastUpdate 12/01/2566 16:03:43 โดย : Admin
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 7:51 am