เมื่อวันก่อน กรมศุลกากรแถลงข่าวใหญ่โชว์จับกุมยาเสพติด ประเภทยาไอซ์ จำนวน 51 ตัน มูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาท ถูกซุกซ่อนมาในพรมเตรียมส่งออกจากท่าเรือกรุงเทพ ปลายทางฮ่องกง นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของกรมฯ นี้ ในปีที่ผ่าน เน้นการจับกุมการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรของยาเสพติดอย่างจริงจัง การจับกุมสินค้าผิดกฎหมายประเภทอื่นกลายเป็น “เบี้ยใบ้รายทาง” ทั้งที่ ผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการปราบปรามมีการเลือกปฏิบัติ
จากผลงานดังกล่าว อนุมารได้ว่ากรมศุลกากร “ด้อยค่า” ความสำคัญการจับกุมสินค้าผิดกฎหมายอื่นๆ รวมทั้ง “หมูเถื่อน” ทำให้ออกมาเพ่นพ่านนอกท่าเรือไร้การจับกุม เล็ดลอดการตรวจสอบจากเทคโนโลยีสแกนขั้นเทพเห็นได้ของที่ซุกอยู่ใต้พรมได้ แม้กระทั่ง “ขนหมู” ก็ไม่รอดสายตาไปได้ หากแต่มีเพียงส่วนน้อยที่บังเอิญเจอบนท้องถนนจึงจับกุม นี่ก็เป็นเรื่องนแปลก!! ขณะที่เหตุผลที่แจงกับสังคม คือ ตรวจไม่พบเพราะมีการสำแดงเท็จ เป็นอาหารทะเล หรือ อาหารสัตว์ เหตุผลนี้...อมหลวงพ่อโตมาทางขว้าง ก็ไม่อาจเชื่อได้ เจ้ากระทรวงควรตรวจสอบความสำเร็จในการปฏิบัติงาน (KPI) ของกรมฯ ในสังกัดอย่างละเอียด
ต่างกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จัดความสำคัญการปราบ “หมูเถื่อน” ไว้ในอันดับต้นๆ ...อาจจะมีข้อโต้แย้งว่าต้นเหตุของหมูเถื่อน มาจากโรคระบาด ASF ผลผลิตสุกรของประเทศหายไปประมาณ 50% เปิดช่องว่างให้ หมูเถื่อนเข้ามาทำกำไรจากส่วนต่างราคาในประเทศที่ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กรมปศุสัตว์ดูแลก็ถูกต้องแล้ว ซึ่งสิ่งที่กรมฯ ปฏิบัติให้เห็น คือ มีส่วนร่วมในการจับกุมทุกครั้ง แม้จะล่าช้าในตอนต้นแต่ก็เร่งสปีดและแสดงความเป็นเจ้าภาพในการจับกุมให้ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน
ที่สำคัญวันนี้ (12 มกราคม 2566) กรมปศุสัตว์ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการทำลายชิ้นส่วนและเนื้อสุกร ของกลางที่ลักลอบนำเข้าจำนวน 700 ตัน (700,000 กิโลกรัม) ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดของไทย ที่จังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังประกาศนโยบายสำคัญในการยกระดับการเลี้ยงหมู เพื่อป้องกันโรคระบาดและเพิ่มประสิทธิภาพเลี้ยง สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ประกอบด้วย โครงการ Pig Sandbox โครงการส่งเสริมการนำระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) ตลอดจนจ้างงานเพิ่มเติม 6,000 คน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการจับกุมอย่างเข้มงวด ซึ่งปัจจุบันมีข้าราชการที่รับผิดชอบงานนี้อยู่ 4,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปราบปราม และมั่นใจว่าในปี 2566 เกษตรกรเริ่มมีการเลี้ยงใหม่มากขึ้น คาดว่าผลผลิตสุกรจะมีจำนวนประมาณ 16-18 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวนสุกร 15.5 ล้านตัว ซึ่งเป็นการบริโภคในประเทศประมาณ 80-90% ที่เหลือส่งออกในรูปแบบเนื้อแปรรูป เช่น เนื้อปรุงสุกไปที่ญี่ปุ่น และส่งเนื้อดิบไปที่ฮ่องกง ส่วนราคาหน้าฟาร์มคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 96 บาทต่อกิโลกรัม และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสัญญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
สำหรับปี 2566 กรมปศุสัตว์ยังมีแผนติดตามการขนย้ายซากหมูด้วยระบบ GPS ตรวจและติดตามแบบเรียลไทม์ และป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยจะเริ่มได้ในปีหน้า ใช้งบฯกลาง 32 ล้านบาท ครอบคลุมถึงเรือขนส่งสินค้า
เห็นแผนงานของกรมปศุสัตว์แล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นแน่ เพราะหมูเถื่อนจะไม่ทะลักเข้ามากดราคาในประเทศให้ต่ำ ราคาสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ต่างจากช่วงที่ผ่านมาผลิตแล้วขายไม่ได้ราคาหรือขาดทุน จึงจำเป็นต้องชะลอการเลี้ยงออกไป ผลผลิตน้อยไม่เป็นตามแผนการฟื้นฟูของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สุดท้าย ขอตั้งคำถามกับกรมศุลกากร ว่า ท่านเจ้ากรมฯ มีแผนปราบปรามหมูเถื่อนอย่างไร ขอให้ชี้แจงแถลงไขให้เกิดความชัดเจนกับสังคมด้วย ว่า จะเน้นจับแต่ยาเสพติด (เป็นเพราะส่วนแบ่งที่จะได้รับหรืออย่างไร) หรือทุกสินค้าที่ลักลอบเข้ามาผิดกฎหมาย “หมูเถี่อน” เป็นเรื่องปากท้องและความปลอดภัยของคนไทย ควรได้รับการจัดอันดับการปราบปรามอยู่ในระดับต้น... หากปี 2566 กรมฯ ยังไม่จริงจังกับปราบปราม เจ้ากระทรวงการคลัง ควรพิจารณาโยกย้ายข้าราชการมือปราบ มือสะอาด มาแทนที่./
นงพนา สอนสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์
ข่าวเด่น