กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยเทรนด์บริโภคขนมขบเคี้ยวไขมันต่ำกำลังมาแรงในตลาดจีน หลังผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ แนะการเข้าสู่ตลาดต้องจับกระแสให้ทัน และเน้นการผลิตสินค้าโดยลดไขมัน ลดน้ำตาล ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพัฒนาสินค้าโดยใช้นวัตกรรม ใช้การสื่อสารทำความเข้าใจผู้บริโภค จะทำให้สินค้าเจาะเข้าสู่ตลาดได้ดีขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจาก นางสาวเนตรนภิศ จุลกนิษฐ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแนวโน้มการทำตลาดสินค้าขนมขบเคี้ยวไขมันต่ำที่กำลังเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวจีน
โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ก็ยังคงมีความต้องการด้านรสชาติอาหารที่อร่อยควบคู่ไปกับประโยชนที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้อุตสาหกรรมขนมขบ เคี้ยวของจีนค่อย ๆ ปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคดังกล่าว เช่น การเปิดตัวของผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ใส่สารเติมแต่ง ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ มีน้ำตาลและไขมันต่ำ ซึ่งกำลังทยอยเข้าสู่ท้องตลาด
นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตอาหารหลายรายได้เริ่มศึกษาวิจัยเทคนิคการผลิตอาหารที่มีไขมันเล็กน้อย หรือไขมันเท่ากับศูนย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเปิดตัวขนมขบเคี้ยว ของว่างหลากหลายชนิดที่เน้นจุดขายไขมันต่ำ เช่น เค้กบุกไขมันต่ำ เนื้อวัวอบแห้งไขมันต่ำ เป็นต้น รวมถึงผู้ผลิตมันฝรั่งแผ่นทอดหลายรายที่ได้พัฒนาและเปิดตัวมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบที่มีไขมันต่ำ เช่น Lay’s ได้เลือกใช้น้ำมัน rapeseed oil-lowerucic acid มาทอด ทำให้ไขมันอิ่มตัวลดลง 50% แต่ราคาขายทำได้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เทรนด์การบริโภคอาหารมักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และความต้องการของผู้บริโภคก็จะได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปัจจุบันขนมขบเคี้ยวที่วางจำหน่ายในตลาดจีน ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเลือกปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในด้านเทคนิคการผลิต ส่วนผสม และบรรจุภัณฑ์ อย่างเช่น สตรอเบอรี่อบแห้ง (พัฒนา ด้านเทคนิคการผลิต) ขนมเวเฟอร์ที่เติมโปรไบโอติก และเยลลี่น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ(ปรับปรุงด้านส่วนผสม) ถั่วเปลือกแข็งบรรจุในซองขนาดเล็ก (ปรับปรุงด้านบรรจุภัณฑ์) เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้านอาหารของไทย ควรติดตามแนวโน้มการบริโภคของตลาดจีนอย่างใกล้ชิด พยายามส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคมีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีมากขึ้น โดยเน้นงานวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ศึกษารวบรวมข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับสารอาหารและสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ติดตามผลสะท้อนกลับจากผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสำรวจทิศทางตลาดที่เหมาะสมกับการพัฒนาของตนเอง ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
ข่าวเด่น