แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง จับมือสภาหอฯ สรท.กยท. และ บสย. เดินเครื่องโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา


 
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง เปิดตัวโครงการความร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (สภาหอฯ) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อบูรณาการการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยเริ่มต้นนำร่องกับนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง ภายหลังพิธีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ระหว่าง นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอฯ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. และ ดร.หลักชัย กิตติพล ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริหารนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนาม พร้อมด้วยนายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นสักขีพยาน ณ เทศบาลเมืองบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

 
นับเป็นการสานพลังครั้งสำคัญระหว่างสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังกับภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อแก้ปัญหาและยกระดับการพัฒนาสินค้าเกษตร ได้แก่ ยางพารา นำโดยสภาหอฯ และ สรท. กยท. และนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เพื่อนำร่องยกระดับการพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้ายางพารา ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ ทั้งในมิติของการสร้างงาน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีเกษตรกรและผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องมากถึง 1.7 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ และในมิติของการสร้างรายได้เข้าประเทศ จากการส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้นและการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ยางพาราในระดับปลายน้ำรวมเป็นมูลค่าส่งออกสูงถึงกว่าปีละ 6.8 แสนล้านบาท โดยไทยนับเป็นผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งอุตสาหกรรมยางพารา โดยเฉพาะการผลิตในระดับต้นน้ำก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจำนวนมหาศาล เนื่องจากมีการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ (Local Content) สูงถึงกว่า 90% จึงกล่าวได้ว่า ยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อันจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินและขยายธุรกรรมในอุตสาหกรรมให้ขยายตัว และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตและการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวของภาคการผลิตและส่งออกยางพาราของประเทศไทยต่อไป โดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น สะดวกขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราและที่เกี่ยวเนื่องให้สามารถเริ่มต้น เริ่มปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวหรือขยายธุรกิจเชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลกได้ รวมถึงให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการอย่างครบวงจรท่ามกลางโอกาสและความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของโลกและประเทศไทย

ความร่วมมือในภาครัฐบาลคู่ขนานกับภาคเอกชนในครั้งนี้จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในมิติต่าง ๆ ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุนของผู้ประกอบการทั้งระดับนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจฐานรากและต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

LastUpdate 20/01/2566 13:49:12 โดย : Admin
15-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 15, 2025, 4:20 pm