เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังเผย ผลการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ "มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 20 - 22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน จังหวัดชลบุรี ได้รับความสนใจจากประชาชน ผู้ประกอบการ รวมทั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานกว่า 5,000 รายการ”


การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี กระทรวงการคลังได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษาสามารถเข้าร่วมขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายในงานได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย นอกจากนี้ การจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมออกบูธช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการภายในงานมหกรรมด้วย

ผลของการจัดงานมหกรรมประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีรายการที่ขอรับบริการภายในงานกว่า 5,000 รายการ ประกอบด้วยการขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมกว่า 1,800 รายการ จำนวนเงินประมาณ 1,900 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากการบูรณาการระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการที่ประชาสัมพันธ์ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาสามารถเข้าร่วมงานมหกรรมเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รองลงมา คือ การขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพกว่า 1,200 รายการ จำนวนเงินประมาณ 400 ล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมกว่า 800 รายการ จำนวนเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออมกว่า 200 รายการ จำนวนเงินประมาณ 35 ล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การตรวจข้อมูลเครดิต การขาย NPA ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน การขอคำแนะนำผ่านสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เป็นต้น ประมาณ 1,000 รายการ

นอกจากการจัดงานมหกรรมสัญจรแล้ว กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยยังจัดให้มี การลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 180,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมประมาณ 400,000 รายการ ประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 75 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 6 และจำนำทะเบียนรถร้อยละ 4 ทั้งนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่ลงทะเบียนอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นร้อยละ 35 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจรครั้งสุดท้าย คือ ครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา วันที่ 27 – 29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา จึงขอเชิญชวนประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจให้เข้าร่วมงาน โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมสัญจรได้ทางเว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่หน้างานมหกรรม และสามารถลงทะเบียน เพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้ทางเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/ DebtFair หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว หรือสามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากสาขาของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศได้เช่นกัน

QR Code สำหรับลงทะเบียนเข้าร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่ อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 5 Gsb มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ 1080 X 1080 W3.2 https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT
 
 

 
QR Code สำหรับลงทะเบียนแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออนไลน์ ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 https://www.bot.or.th/DebtFair

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

1. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โทร. 02 202 1868 หรือ 02 202 1961

2. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือสายด่วน 1115

3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02 111 1111

4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555

5. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000

6. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือสายด่วน 1357

7. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 169 9999

8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 650 6999 หรือสายด่วน 1302

9. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ม.ค. 2566 เวลา : 13:58:45
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 5:44 am