ในการประชุม กนง.ที่จะถึงนี้ คาดว่า กนง.จะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 1.50% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ ธปท. ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศจีนที่เร็วกว่าคาด
กนง.ยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% อยู่มาก ขณะที่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง. ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องได้ ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาเร่งสูงขึ้นที่ระดับ 5.89% YoY เนื่องจากราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน และอาหารสด ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ธ.ค. อยู่ในระดับใกล้เคียงกับในเดือนก่อนหน้าโดยอยู่ที่ระดับ 3.23% YoY สะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ในด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลัง โดยการเปิดประเทศจีนที่เร็วกว่าคาด จะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศจีนที่ทยอยกลับมาเป็นปกติ จะช่วยหนุนการส่งออกไทย แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังคงกดดันการส่งออกไทยอยู่
ในระยะข้างหน้า กนง.มีแนวโน้มสูงที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียง 1 ครั้งที่ร้อยละ 0.25 ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ และอาจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ไปจนตลอดทั้งปี 2566 อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยที่ออกมา รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักอย่างเฟดเป็นสำคัญ โดยหากเงินเฟ้อไทยยังคงอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด และเฟดจำเป็นต้องยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง คงส่งผลให้ กนง. เผชิญแรงกดดันมากขึ้น และอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
- เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยูโรโซน แม้ว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและการเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีนคงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน แต่คงไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวเท่ากับปี 2565 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อโลกที่ลดลงช้ากว่าที่ประเมินจากปัจจัยจีนเปิดประเทศอาจจะส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยให้ลดลงช้าตามไปด้วย
- เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมหรือฟื้นตัวแบบรูปตัว K (K-shaped recovery) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับการส่งออกมีแนวโน้มที่จะยังคงเปราะบางเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
- นอกจากนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันลดลงและมีทิศทางแข็งค่าโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแนวโน้มลดลง หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามที่ได้ส่งสัญญาณ
ข่าวเด่น