ซีเอสอาร์-เอชอาร์
ครั้งแรก ! ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชาครั้งที่ 25 พาครูอาจารย์ขึ้นเหนือ เยือนศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


 
โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย ผู้บริหารโรงเรียน ครูอาจารย์ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิตได้อย่างแท้จริง ด้วยการลงมือทำกับกิจกรรมในห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 5,151 โครงการในพระราชดำริทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย พร้อมทั้งได้ซึมซับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงสร้างไว้เพื่อให้ พสกนิกรได้นำมาพัฒนาเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข  
 
 
ซึ่งในกิจกรรมครั้งที่ 25 นี้ ได้พาครูอาจารย์และผู้ร่วมกิจกรรม ลงพื้นที่ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น 1 ใน 6 ศูนย์ จาก 5,151 โครงการในพระราชดำริ ศูนย์นี้เป็นการศึกษาการพัฒนาป่าไม้ พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ ผสานกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ แล้วสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ เปรียบเสมือนเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”
 
 
 
ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมรับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระราชกรณีกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงวางรากฐานให้ศูนย์แห่งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น จาก นายรพีพล ทับทิมทอง วิทยากรอาวุโสของศูนย์ฯ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประสบการณ์การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร สร้างความชุ่มชื้นให้พื้นดินด้วยการสร้างฝายในรูปแบบต่างๆ และทำแนวป้องกันไฟป่าเปียกตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นแนวทางในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจากการเกิดไฟป่าตอบโจทย์เรื่องควันพิษมลภาวะที่เกิดจากควันไฟ ลดฝุ่น PM 2.5 พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์ปลานิลจิตรลดา และมอบเป็ดไข่จำนวน 300 ตัวให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 15 โรงเรียน เพื่อสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้เพาะเลี้ยงและสามารถนำไข่เป็ดมาบริโภคสำหรับมื้อกลางวัน ทั้งหมดนี้ เป็นการสอดแทรกความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และร่วมมือกันในการป้องกันเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติ รวมถึงตอกย้ำความเข้าใจในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
 
 
 
พร้อมร่วมกิจกรรม Workshop ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 Interactive Board Game จากวิทยากร อาจารย์ อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่และการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสำหรับองค์กรต่อไป และรับฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  และ ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี

 
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชานี้เราได้ทำต่อเนื่องมาตั้งปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 25 เป็นการเริ่มต้นเดินก้าวเล็กๆ แต่ก้าวเดินอย่างมั่นคงต่อเนื่อง เราคาดหวังให้เกิดการต่อยอดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและพระราชกรณีกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไปสู่เด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ทั้งนี้จากกิจกรรมที่ผ่านมา ผลตอบรับจากครูอาจารย์ที่ได้ร่วมกิจกรรม และนำกลับไปต่อยอดสอนให้กับเด็กๆ ทั้งครูและเด็กเยาวชนเกิดประสบการณ์ในการเรียนรู้ มีความเข้าใจในเรื่องราวของโครงการในพระราชดำริมากขึ้น สามารถนำกลับไปพัฒนาเพื่อประโยชน์ในการสร้างอาชีพเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในการดำรงชีพได้ชีวิตได้ต่อไป

 
และที่สำคัญคือได้เข้าใจ เรียนรู้ สามารถนำไปพัฒนาตนเอง ด้วยหลักคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู เกิดการสร้างแรงบันดาลใจ เกิดทัศนคติ ทางบวก ต่อครอบครัว สังคม ไปจนถึงประเทศชาติ ทั้งนี้ เรายังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อโครงการเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป”  นางวิชชุดา กล่าวเพิ่มเติม

 
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “โครงการนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN SDGs ภายในปี 2030  เป็นการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตและโลกใบนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กร และบุคคล ต้องตระหนักและเตรียมการ ซึ่งการสร้างความรู้ ความเข้าใจเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ต้องมีการวางแผนดำเนินการและสื่อสารอย่างทั่วถึง รวมถึงการสร้างความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้คนไทยได้เข้าใจวิถีความยั่งยืนและนำพาให้พึ่งพาตนเองได้”
 
 
 
โครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) มูลนิธิธรรมดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังเพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
 
 
ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 26 เตรียมลงพื้นที่  ณ ศูนย์บริการการพัฒนาสวนไม้ดอกไม้หอมไทย มูลนิธิชัยพัฒนา จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com ตามรอยพระราชา - The King's Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ม.ค. 2566 เวลา : 16:38:34
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 5:17 am