คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 0.25 หลังเงินเฟ้อมีทิศทางอ่อนแรงลง อย่างไรก็ดี เส้นทางดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ
ในการประชุม FOMC รอบแรกของปี วันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. นี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 4.50-4.75% หลังเงินเฟ้อมีทิศทางอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จุดสนใจคงอยู่ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปถึงระดับใด ซึ่งเส้นทางดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ
ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าเงินเฟ้อเริ่มอ่อนแรงลง ดังนั้น เฟดจึงแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 0.25 ในการประชุมที่จะถึงนี้ หลังจากปรับขึ้นร้อยละ 0.50 ในการประชุมครั้งก่อนหน้า ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 2565 ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 6.5% YoY ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ ต.ค. 2564 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารและพลังงานก็ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันโดยอยู่ที่ 5.7% YoY ในเดือน ธ.ค. อย่างไรก็ดี แม้เงินเฟ้อจะอ่อนแรงลงแต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ ขณะที่ ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนภาพที่แข็งแกร่งอยู่ โดยยอดยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (สัปดาห์ 8-14 ม.ค. 2566)ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 190,000 ราย ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ดังนั้น เฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสัญญาณการอ่อนแรงลงของเงินเฟ้อ เฟดคงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 0.25 ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้
เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า เส้นทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟดคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหลังจากการประชุม FOMC ในเดือนม.ค. 2566 เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ คงไปแตะระดับสูงสุดที่ราว 5.0% หากเงินเฟ้อมีทิศทางอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงสะท้อนจากยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. 2565 ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ตัวเลขเบื้องต้นเดือน ม.ค. 2566) แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้การหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐฯ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรก มีแนวโน้มที่จะเห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีก่อนหน้าของเฟด และในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้คาดว่าจะไม่เติบโต (GDP ขยายตัวราว 0%) ส่งผลให้เฟดอาจจำเป็นต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้จะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2.0% อย่างมาก แต่คาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะค่อยๆปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ท่ามกลางแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้มุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจจีนอาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ขยับขึ้นบ้าง แต่คาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์คงไม่กลับมาพุ่งสูงขึ้นดังเช่นในช่วงปี 2565 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้น ภายใต้สมมุติฐานดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียงแค่ 1 ครั้งในการประชุมเดือน มี.ค. 2566 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ คงไปแตะระดับสูงสุดที่ราว 5.0% และเฟดอาจคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับนั้นตลอดปี 2566 อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงคาอยู่ในระดับสูงและไม่ปรับลดลงเท่าที่ควร ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดยังคงจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องไปเกินกว่าระดับ 5.0%
ข่าวเด่น