เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : ดอกเบี้ยไทยขึ้นอีกครั้ง 0.25% แบงก์รัฐขยับดอกเบี้ยเงินกู้ตาม จะขึ้นอีกไปถึงเท่าไหร่? สิ้นสุดตอนไหน?


 
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี จากที่ขึ้นมาแล้วสู่ระดับ 1.25% เท่ากับว่าระดับของอัตราดอกเบี้ยได้ขึ้นมาอยู่ที่ 1.50% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นการขึ้นครั้งที่ 4 ตั้งแต่เดือนส.ค.2565 โดยที่ทางธปท.ให้ เหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับที่สูงอยู่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ธปท.จึงต้องมีการรักษาเสถียรภาพทางด้านระบบการเงิน และประคับประคองดูแลเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างไม่ขัดข้อง ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามการขยายตัวของเศรษฐกิจนั่นเอง

แต่เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าว แม้จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หลายคนก็มีความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอีกกี่ครั้ง จะแตะที่ระดับเพดานเท่าไหร่? จะสิ้นสุดตอนไหน? เพื่อที่จะได้รับมือและวางแผนเงินในมือของตัวเองได้ถูก ซึ่ง อ้างอิงจาก Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะแตะไปถึง 2% ภายในปี 2566 และเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) อาจทำจุดสูงสุดอยู่ที่ 2.5%ในปี 2567 เนื่องด้วยภาวะเงินเฟ้อสูงที่ยังไม่หมดไป และปรับตามทิศทางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตที่ 3.4% จากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 3.2%

สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับทาง EIC SCB ที่ได้ประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึง 2% แบ่งขึ้นอีกเป็น 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือนมี.ค.และเดือนพ.ค.2566 โดยคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ระดับดังกล่าวตลอดปีนี้ เพื่อให้เสถียรภาพทางการเงินกลับสู่ระดับที่เหมาะสม สอดรับเข้ากับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะในปีนี้เป็นปีที่ภาคการท่องเที่ยวกลับมาผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และคาดว่าจะเติบโตกลับมาได้เทียบเท่ากับช่วง Pre COVID ในปี 2019 เนื่องจากได้แรงสนับสนุนหลักๆ มาจากนักท่องเที่ยวจีน ที่มาตรการ Zero-COVID ได้ยกเลิกไป

อีกทั้งทางฝั่งของบ้านเรา นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงจีน ไม่จำเป็นต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ ด้วยวิธี PCR หรือมีการตรวจคัดกรองไวรัสโควิด-19 ที่สนามบินแต่เพียงอย่างใด ฉะนั้นจะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคการท่องเที่ยวเติบโตได้อย่างดีมาก ส่งผลต่อมายังธุรกิจโรงแรมและภาคธุรกิจการบริการต่างๆที่ช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้าง อีกทั้งยังช่วยผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอยู่จำนวนมาก อันเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชนอีกด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ๆก็กลับมารุกคืบนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องช่วยรักษาสมดุลการเงินในประเทศ ที่มีท่าทางว่าจะมีเงินสะพัดเข้ามาหมุนเวียนในเศรษฐกิจ ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพื่อคุมไม่ให้สถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังเรื้อรังอยู่นั้นแย่ลงไปอีก ที่ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core CPI ยังคงตัวค้างอยู่ในระดับสูง โดยในช่วงธ.ค.ล่าสุดอยู่ที่ 3.23% ปรับขึ้นจากเดือน พ.ย.ที่ 3.22%

และผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ดังกล่าว ที่ตอนนี้ระดับดอกเบี้ยได้ขึ้นมาอยู่ 1.50% ทำให้ธนาคารของรัฐ ก็ถึงคราวที่จำเป็นต้องขยับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จากที่พยุงคงดอกเบี้ยคงเดิมเพื่อเป็นการช่วยเหลือมาตลอดปีที่แล้ว โดยตอนนี้มีธนาคารรัฐที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง. 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพิ่มขึ้น 0.25% จากที่ไม่เคยปรับขึ้นเลยมาเกือบ 3 ปี ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ก็ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น 0.25% กันหมด รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ทั้ง MRR MLR และ MOR 0.125 – 0.25% ตามมติ กนง.เช่นกัน และมีแนวโน้มว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.อีก 2 ครั้ง รวมเป็น 0.5% ก็จะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ยิ่งปรับสูงตามขึ้นไปอีก โดยไม่มีมาตรการเข้ามาคอยพยุงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

LastUpdate 29/01/2566 21:50:07 โดย : Admin
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 4:02 am