สาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบและกล่าวชื่นชมโครงการพัฒนาการผลิตเมล็ดงอกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตรที่ต้องการขยายผลงานวิจัยการผลิตเมล็ดงอกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีที่มีคุณภาพดี ตรงตามพันธุ์ และได้มาตรฐานการผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานีจำนวน 1,000,000 เมล็ดงอก เพื่อจำหน่ายให้แปลงเพาะกล้าปาล์มน้ำมันภาครัฐและเอกชน พร้อมกับได้สั่งการให้ดำเนินการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์ดีอื่นๆ เช่นมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมชุมพร 2 ลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 และมะพร้าวต้นเตี้ยเพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานลิงให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร จึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้รายงานแผนการผลิตพันธุ์พืชคุณภาพดีปีงบประมาณ 2566 ว่า มีแผนดำเนินการผลิตพืชไร่และปาล์มน้ำมัน จำนวน 17 ชนิด ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด หลัก ขยาย จำหน่าย พืชตระกูลถั่ว ถั่วเขียว จำนวน 247 ตัน ถั่วเหลือง จำนวน 204 ตัน ถั่วเหลืองฝักสด จำนวน 9.83 ตัน ถั่วลิสงทั้งเปลือก จำนวน 162 ตัน ปาล์มน้ำมัน (เมล็ดงอก) จำนวน 182,000 เมล็ด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 30 ตัน งา 1.8 ตัน และอื่น ๆ พันธุ์พืชสวนคุณภาพดี 78 ชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ มะพร้าวกะทิจำนวน 6,600 ต้น มะพร้าวน้ำหอม จำนวน 9,750 ต้น มะพร้าวพันธุ์ไทย จำนวน 30,000 ต้น มะพร้าวลูกผสม จำนวน 11,000 ต้น ผลพันธุ์มะพร้าวกะทิจำนวน 12,000 ผล มะพร้าวน้ำหอม จำนวน 20,000 ผล มะพร้าวพันธุ์ไทย จำนวน 55,000 ผล มะพร้าวลูกผสม จำนวน 20,000 ผล กาแฟอาราบิกาจำนวน 183,040 ต้น ทุเรียน 30,000 ต้น เพื่อกระจายพันธุ์พืชคุณภาพดีสู่การใช้ประโยชน์แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และภาคเอกชน ช่วยลดต้นทุนการผลิตพืชและเพิ่มผลผลิตจากการใช้พันธุ์พืชคุณภาพดี และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงสำรองพันธุ์พืชในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินและภัยธรรมชาติเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังกำกับดูแลเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 46 ชนิดพืช ปัจจุบันมีผู้ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรแล้วจำนวนกว่า 2 หมื่นราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ขายต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่ขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรแล้วจำนวน 366 ราย โดยตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ หากขายเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายเมล็ดพันธุ์ที่มีการปลอมปน โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ การโฆษณาเมล็ดพันธุ์ควบคุมเป็นเท็จ หรือเกินความจริง โทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแหล่งผลิตต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่ถูกต้องตรงตามพันธุ์ปัจจุบันมี 365 แปลงที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร
สำหรับยางพารามีแปลงขยายพันธุ์ต้นยางเพื่อการค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรปี 2565 แยกเป็นยางพาราพันธุ์ RRIT 251 จำนวน 14,186,450 ต้น พันธุ์ RRIM 600 จำนวน 17,824,210 ต้น พันธุ์ RRIT 408 จำนวน 588,000 ต้น และพันธุ์ RRIT 3904 จำนวน 998,400 ต้น ส่วนมะพร้าว กรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนผลิตหน่อมะพร้าวสายพันธุ์ดี (ต้นเตี้ย) และส่งเสริมการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนมะพร้าวสายพันธุ์ไทยที่มีอายุมากและต้นสูงเพื่อให้สอดรับกับนโยบาย “GAP Monkey Free Plus” ป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก โดยปัจจุบันมีแปลงที่ได้รับการรับรองแล้วจำนวน 1,400 แปลง เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงต่อการต่อยอดในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยต่อไป
ข่าวเด่น