สำเร็จเกินคาดสำหรับยุทธการซื้อพืช 3 หัวในราคานำตลาด ประกอบด้วย "หอมหัวใหญ่ หอมแดงและกระเทียม" ของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้า ภายในร่วมกับผู้ประกอบการ 16 รายเข้ารับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูก ตามนโยบาย”ตลาดนำการผลิต”ของรัฐบาล ผ่านแนวคิด "อมก๋อยโมเดล" ที่ริเริ่มโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
หลังคิกออฟ ”หอมหัวใหญ่” ที่เชียงใหม่เมื่อ 27 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ล่าสุดถึงคิว”กระเทียม” แม่ฮ่องสอน ในสัปดาห์นี้ที่ผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อถึงแหล่งปลูก
จากการคาดการณ์ของสำนักงานแศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่าผลผลิตกระเทียม ในฤดูการผลิตปีนี้(2566)อยู่ที่ 64,891 ตัน พื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศอยู่ที่ 61,563 ไร่ แหล่งปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ โดยมีจ.เชียงใหม่ ให้ผลผลิตมากที่สุด 25,556 ตัน รองลงมาแม่ฮ่องสอน 20,837 ตัน ลำพูน 1,925 ตัน และพื้นที่อื่นๆ อีก 16,573 ตัน
กล่าวสำหรับกระเทียมแม่ฮ่องสอน ได้ชื่อว่าสุดยอดกระเทียมไทย มีลักษณะสีม่วง กลิ่นฉุน เปลือกบาง ไม่ฝ่อง่าย เก็บไว้ได้นาน ที่สำคัญยังพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง ที่เรียกว่า”อัลลิซิน”สูงกว่าที่อื่น โดยมีแหล่งปลูกหลักอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ เมือง ปายและขุนยวม
กรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เผยความคืบหน้าการขับเคลื่อนมาตรการจัดการพืช 3 หัวปี 2566 ตามนโยบายตลาดนำการผลิต” ของรัฐบาลผ่านแนวคิด อมก๋อย โมเดล หลังคิกออฟเปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566ที่ผ่านมา ณ สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา จำกัด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่โดยมีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน จากนั้นได้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยนำผู้ประกอบการจำนวน 16 ราย ประกอบด้วย ผู้รวบรวม 8 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป 4 รายและตลาดกลาง 4 ราย ได้เข้าไปดำเนินการรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งปลูกในราคานำตลาดในช่วงต้นฤดูการผลิตเพื่อกระจายสู่ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกและสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 4 แห่ง รวม 1,318 สาขา ตลอดจนร้านธงฟ้าอีก 1 หมื่นร้านค้าที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมการค้าภายใน
“ปัญหากระเทียมในอดีต เกษตรกรปลูกแล้วไม่รู้ไปขายที่ไหน จะเก็บก็กลัวขายไม่ได้ขายสดก็ถูกกดราคา กรมก็ได้ร่วมกับผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อล่วงหน้าในราคานำตลาด เมื่อสดหมดเขาก็จะเก็บแห้งไว้ขายต่อ”
รองอธิบดีกรมการค้าภายในเผยต่อว่าสำหรับพืชหัวอย่างกระเทียมนั้นปี 2566 นี้กรมมีเป้าหมายซื้อล่วงหน้าพร้อมทำสัญญาในราคานำตลาดจำนวน 64,891 ตัน จากแหล่งปลูกสำคัญใน 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและลำพูน โดยช่วงสัปดาห์นี้จะมุ่งเป้าไปที่จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากผลผลิตกระเทียมเริ่มออกสู่ตลาดก่อนพื้นที่อื่น
“แหล่งผลิตสำคัญกลุ่มใหญ่อยู่ที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เฉพาะแม่ฮ่องสอนกระเทียม รวมแล้ว 3,700 ตัน เชียงใหม่ 3,000 ตัน ลำพูน 1,300 ตัน เราดูดซับออกมาสองพันตันหรือยี่สิบเปอร์เซ็นต์ในราคานำตลาด ทำให้กระแสความต้องการมากขึ้น ตลาดคึกคักขึ้น อย่างที่ปายตอนนี้เริ่มแล้ว ผู้ประกอบการที่เราเชื่อมโยงมา เข้ารับซื้อในราคายี่สิบบาท เมื่อก่อนไม่มีใครมาซื้อตั้งแต่ต้นฤดู รอก่อน ๆ ให้มันออกชุกแล้วค่อยกดราคา เกษตรกรจะเก็บก็เก็บไปไม่รู้อนาคต ตอนนี้เก็บปุ๊บมีคนมาแย่งซื้อปั๊บ”นายกรนิจกล่าวถึงมาตรการเชิงรุกจัดการพืชกระเทียม แม่ฮ่องสอน
ขณะที่ ผู้ประกอบการรายใหญ่ 1 ใน 16 รายที่ร่วมโครงการกับกรมการค้าภายในเข้าไปรับซื้อกระเทียมถึงแหล่งปลูกเผยสถานการณ์กระเทียมในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอนในขณะนี้ โดยเฉพาะอ.ปายเริ่มให้ผลผลิตก่อนอำเภออื่น โดยกล่าวยอมรับว่า “ตอนนี้พวกคนกลางตื่นตัวกันมาก โทรหากันวุ่นว่าขายที่ไหน ขายให้ใคร เขาจะเก็บมาขายบ้าง ส่วนเราจะไม่รับซื้อจากคนกลาง แต่จะซื้อจากเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น ตอนนี้ข่าวกระฉ่อนไปทั่วทั้งอ.ปายแล้ว”
ผู้ประกอบการรายเดิมยอมรับว่าคุณภาพกระเทียมแม่ฮ่องสอนปีนี้ดีมาก ขณะนี้ทุกพื้นที่เริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว โดยเริ่มที่อ.ปายจากนั้นก็จะทยอยรับซื้อไปเรื่อย ๆ ทั้งในพื้นที่อ.ปายและอำเภออื่นๆ ซึ่งราคาปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามกระเทียมแม่ฮ่งอสอนขณะนี้ยังอยู่ในช่วงต้นฤดู ซึ่งจะออกชุกราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
ด้าน นันทนา พรมพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เมืองแปง อ.ปายในฐานะประธานแปลงใหญ่กระเทียมอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนกล่าวรู้สึกดีใจที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม ส่งผลทำให้ราคากระเทียมปีนี้ค่อนข้างดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา
“ปีที่แล้วเกษตรกรพอขายได้ แต่ปีนี้พาณิชย์ช่วยพยุงราคาไม่ให้ต่ำกว่าราคาตลาด ตอนนี้กระเทียมสดเขารับซื้ออยู่ที่ยี่สิบกว่าบาท แต่เป็นช่วงต้นฤดูผลผลิตยังออกมาไม่เยอะ ต้องรอดูช่วงมีนากระเทียมจะออกมาเยอะว่าราคาจะอยู่ที่เท่าไหร่”
ประธานแปลงใหญ่กระเทียมปายกล่าวถึงจุดเด่นกระเทียมแม่ฮ่องสอนว่าถือเป็นสุดยอดของกระเทียมไทยต่างจากที่อื่น มีสีม่วง กลิ่นฉุน เปลือกบาง ไม่ฝ่อง่าย เก็บไว้ได้นาน และจากการวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยยับยั้งและป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง
อย่างไรก็ตามเธอยอมรับว่าปัญหาพืชกระเทียมปายในปัจจุบัน นอกจากพื้นที่ปลูกลดลงทุกปีประมาณ 20% เป็นผลมาจากอุทกภัย และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาตลอดจนค่าพันธุ์แล้ว ยังมีบริษัทตัวแทนผู้ซื้อหรือพ่อค้าคนกลางมาลงทุนให้กับเกษตรกร พร้อมทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าด้วย
“พาณิชย์พยุงราคาถือว่าดี แต่ก็มาปลายฤดู บางทีทำอะไรไม่ได้ เพราะมีบริษัทตัวแทนผู้ซื้อ พ่อค้าคนกลางลงทุนให้เมื่อถึงเวลาขายเขาก็ต้องขายให้กับพ่อค้าอยู่ดี เพราะเกษตรกรไม่มีเงินลงทุนเอง พ่อค้าลงทุนให้ก่อนแล้วค่อยหักลบจบหนี้ตอนขายผลผลิต นี่คือปัญหาหลัก วิธีแก้รัฐต้องหาแหล่งทุนหรือพาณิชย์ต้องหาบริษัทเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้น พูดง่าย ๆ บริษัทเข้ามาตอนถอน ถ้าบริษัทมาดูแต่ตั้งแต่ตอนแรกชาวบ้านจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด แต่ก็ยังดีที่มาตอนถอน”
ประธานแปลงใหญ่กระเทียมอ.ปายสะท้อนปัญหาให้ฟัง พร้อมกล่าวเชิญชวนประชาชนคนไทยอุดหนุนกระเทียมไทย โดยร่วมใจกันซื้อครอบครัวละ 1-2 กิโลกรัมเพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม เนื่องจากพืชกระเทียมสามารถเก็บไว้ได้นานต่างจากพืชหัวอื่นหรือไม้ผล
ข่าวเด่น