เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รมว.คลัง ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง เร่งเดินหน้านโยบายการคลังสู่ภาวะปกติหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย หารือ ธปท.ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ หวังปัจจัยลงทุน ใช้จ่ายหนุนจีดีพีโตเพิ่ม ยันพื้นที่ทางการคลังเพียงพอรองรับวิกฤติ


 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจปี 2566” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจวันที่ 15 ก.พ.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้
 
“พลังขับเคลื่อนปีนี้คงหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยว โดยยืนยันว่า นักท่องเที่ยวทุกคนมีความหมายต่อเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันมาตรการของรัฐ คือ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่ ขณะที่มาตรการด้านการบริโภคภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย จึงได้ออกมาตรการช้อปดีมีคืนสูงสุด 40,000 บาท ซึ่งอยากให้มากกว่า แต่ต้องดูขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้” นายอาคม กล่าว

 
อย่างไรก็ตาม จากภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมี แต่ด้านฐานะทางการคลังยังแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันจากการขยายเพดานเงินกู้ ส่งผลให้ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลัง และมีช่องว่างที่จะกู้เงินเพิ่มเติมได้ถึง 10% ของจีดีพี ในกรณีที่เกิดวิกฤติและต้องหาเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่เสียวินัยทางการคลังด้วย ประกอบกับปัจจุบันหนี้ต่างประเทศของไทยมีสัดส่วนน้อยกว่าเงินกู้ในประเทศ ส่งผลให้ฐานะการเงินการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

“วันนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 60.67% ต่อจีดีพี ซึ่งหากใช้เกณฑ์เดิมเกินมา 0.67% วันที่ปรับเพดานเพื่อความปลอดภัยในเรื่องข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีพื้นที่เราต้องกู้หมด เราต้องดูโครงการที่ยังมีโครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐที่อาศัยเงินกู้ การกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ค้ำประกันจึงไม่ได้เป็นหนี้สาธาณะ จึงต้องดูให้ดีว่าเป็นการก่อหนี้เพื่ออะไร แต่หนี้ส่วนใหญ่ 80% เป็นเรื่องของการลงทุนและมีผลต่อการเติบโตในระยะยาว เราบริหารในเรื่องการเงินการคลัง การประสานงานกันระหว่างกระทรวงการคลังและธปท.” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ยืนยันว่า การใช้จ่ายของภาครัฐบาลยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านของการลงทุน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตในอนาคต ส่วนในเรื่องงบประมาณในปี 66 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณขาดดุล 695,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ประมาณ 700,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 ตั้งงบประมาณขาดดุล 593,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 66 ที่ 102,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก

“การตั้งงบประมาณต้องวางแผนให้มีเหตุมีผล เมื่อไหลที่ขาดดุลนานจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังยืนยันตลอด คือ นโยบายการคลังที่ยั่งยืน ไม่เฉพาะไทยเท่านั้นแต่ประเทศอื่นก็ทำลักษณะเดียวกัน เมื่อโควิดหมด ต้องทำนโยบายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นายอาคม กล่าว

ด้านการดำเนินนโยบายนั้น ยืนยันว่า นโยบายการเงิน และการคลังต้องสอดประสานและทำงานร่วมกัน โดยการดูแลในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ การใช้นโยบายการเงินการคลัง เพื่อดูแลเงินเฟ้อนั้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการทำนโยบายการเงินนั้น ต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยไม่สร้างต้นทุนให้ธุรกิจมากเกินไป และไม่สร้างต้นทุนให้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่ถามว่า เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ยอมรับว่า ไทยมีผลอยู่บ้าง สะท้อนจากภาคการส่งออกที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน การค้าชายแดน รวมถึงการหาตลาดใหม่ๆ มาชดเชยการส่งออกในบางส่วนที่หายไป

นายอาคม กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะย้ำในปีนี้ คือ ตัวที่จะทำให้เศรษฐกิจไปได้ คือ การลงทุน ปีนี้เรื่องการลงทุนของภาคเอกชน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานควรเร่งตัวขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาอัตราการลงทุนของไทยค่อนข้างช้า จากข้อจำกัดด้านโควิด ทำให้กำลังแรงงานมีปัญหา การติดโควิดในไซต์งาน ดังนั้นในปีนี้ แรงขับเคลื่อน คือ การลงทุน โครงการอีอีซีจะมีนัยสำคัญของการสร้างการเติบโตในปีต่อๆ

ขณะที่ สิ่งที่คิดว่า มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของไทยในอนาคต 2 เรื่อง คือ เรื่อง Digital และ Green โดยการที่จะให้ประเทศของไปสู่ความทันสมัย การใช้เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต แอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์ม 5G ต่างๆ ล้วนเป็นดิจิทัลอินฟาสตักเจอร์ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่ต้องไม่ลืมผลลบ เมื่อเปิดมากก็เปิดช่องให้มิจฉาชีพ เช่นที่เผชิญทุกวันนี้ เกิดการแฮกข้อมูล การหลอกลวงมีทุกช่องทาง ดังนั้นการเกิดระบบรักษาความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.พ. 2566 เวลา : 16:34:41
30-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 30, 2024, 2:47 am